เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 28 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และพล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. ร่วมกันแถลง “วาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” โดยนายกฯ กล่าวว่า ได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เบื้องต้นได้ประเมินยอดหนี้นอกระบบขั้นต่ำของประเทศไว้ที่ 50,000 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงแล้วน่าจะมีมากกว่านี้ ซึ่งรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ สร้างความมั่นคง และคืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน ด้วยการบูรณาการทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปในวงจรหนี้นอกระบบอีก โดยภาครัฐจะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ดูแลเจ้าหนี้ และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ในการดำเนินการจะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ หรือแทรคกิ้งไอดีเพื่อติดตามผลได้ เพื่อความโปร่งใสตั้งแต่เริ่มจนจบ และมีวิธีเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกของประชาชน และประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้าการดำเนินการได้ ซึ่งหลังขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว กระทรวงการคลัง จะเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้โดยไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และรัฐบาล จะไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม หรือมอรัล ฮาซาร์ด ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด และจะมีการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เมื่อเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้องแล้วทั้งตำรวจ และมหาดไทยจะมีเคพีไอ และกรอบเวลาร่วมกันในการทำงาน

“แต่โครงการนี้ ไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบหมดไป แต่หากเศรษฐกิจดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต ก็สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น โดยรัฐบาลจะทำให้โครงการนี้ปลดปล่อยประชาชนจากการเป็นทาสหนี้ และมีแรงบันดาลใจในการทำตามความฝัน และยืนยันว่าการคิดดอกเบี้ยจะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนดที่ไม่เกิน 15%”

นายเศรษฐา กล่าวยืนยันว่า การดำเนินการแก้หนี้ในครั้งนี้แตกต่างจากที่ผ่านมาแน่นอน โดยเฉพาะรูปแบบการทำงานที่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำแต่เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนายอำเภอและฝ่ายปกครอง ที่ต้องร่วมมือกันทำงาน และมีเคพีไอ เป็นตัวกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน และในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการทำงานที่ชัดเจนต่อไป ขณะที่ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ รัฐบาลจะแถลงภาพรวมการแก้ไขหนี้ทั้งในและนอกระบบอีกครั้ง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า หลังจากไกล่เกลี่ยหนี้และปรับโครงสร้างหนี้เสร็จแล้ว กระทรวงการคลังในฐานะที่กำกับดูแลธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็มีโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างอาชีพให้กลุ่มลูกหนี้เหล่านี้ต่อ โดยธนาคารออมสินมีสินเชื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินกู้สูงสุด 100,000 บาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 8 ปี ขณะที่ ธ.ก.ส. มีสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกันหนี้ วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี เป็นต้น

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการสินเชื่อเพื่อรองรับลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ ให้ครม.พิจารณา โดยจะปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อให้โอกาสประชาชนได้เข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งจะต้องปรับหลักเกณฑ์ เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถเข้าสู่ระบบได้ ขณะที่หน่วยงานของรัฐ จะมีมาตรการเสริมคือการส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้นำมาผ่อนชำระได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน และเป็นการเอาจริงเอาจังการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอีกครั้ง

“กระทรวงการคลัง จะรับไม้ต่อ หลังจากที่นายอำเภอและผู้กำกับการฯ ลงพื้นที่สำรวจ หรือเอกซเรย์พื้นที่ ได้รายชื่อเจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน แล้วลูกหนี้ต้องการเข้าสู่ระบบ กระทรวงการคลัง จะมีมาตรการสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ เข้ามาช่วยเหลือ พร้อมกับการปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ด้วย เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินของรัฐ การที่คนไปเป็นหนี้นอกระบบ เพราะกู้เงินในระบบไม่ได้ ดังนั้นรัฐก็ต้องมาพิจารณาปรับเกณฑ์ เพื่อให้ผ่อนชำระค่างวดได้”