เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อเนื่องเป็นวันที่2

โดยในช่วงค่ำ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงถึงปัญหาเหมืองทองอัคราว่า การที่บริษัท อัคราได้กลับมาดำเนินกิจการเหมืองทองอีกครั้ง เพราะมีมาตรการเรื่องป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่มีการร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ คณะกรรมการแร่จึงอนุญาตให้บริษัท อัคราได้ใบอนุญาตคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ 44แปลง ที่ขอมาตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่อง ถึงปี2548 ทุกอย่างได้มาถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นไปตามข้อครหา ขณะที่การต่อสู้คดีที่รัฐบาลถูกบริษัท อัครา ฟ้องนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะกรรมการต่อสู้คดีจากหลายกระทรวง ด้วยความรัดกุม รอบคอบ ซึ่งอนุญาโตตุลาการบอกว่า คุยกันได้อย่างไรให้มาเจรจากันว่า จะเดินหน้าต่อสู้คดี หรือเข้าสู่กระบวนการเจรจา  การที่เลื่อนกระบวนการชี้ขาดทางคดีออกไป เนื่องจากเป็นความเห็นชอบร่วมกันทั้งสองฝ่ายให้เลื่อนคำชี้ขาดออกไป ทุกอย่างมีความคืบหน้าทางที่ดี เราไม่ได้เสียประโยชน์ใดๆ ขณะนี้ได้เงินค่าภาคหลวงจากการที่บริษัท อัครา กลับมาประกอบกิจการอีกครั้งไปแล้ว 358ล้านบาท กระบวนการทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่มีการเอาคดีความต่างๆไปแลกกับการเปิดเหมือง

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ส่วนการจะจัดการกับอดีตนายกฯที่ออกมาตรา 44 ปิดเหมืองอย่างไร ต้องให้ความเป็นธรรมกับการใช้มาตรา 44 เพราะมีความขัดแย้งที่อาจบานปลาย จำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 ที่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้ทำตามลำพัง ทำเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และรักษาความสงบเรียบร้อย.