เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ‘ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤติโควิด-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดชั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps’ โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารศธ.ร่วมงาน โดยดร.วิษณุ กล่าวว่า เนื้อหาของการจัดงานในครั้งนี้มีความยิ่งใหญ่มาก และในอนาคตจะต้องมีนิทรรศการเรื่อง Active Learning แบบสัญจรทุกภูมิภาค เพราะเรื่องนี้คือจุดเริ่มต้นของการก้าวเดินแบบพลิกโฉมการศึกษาไทย เพราะทุกวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้สามารถบูรณาการด้วยการสอนแบบ Active Learning ได้ เนื่องจากเป็นการสร้างนวัตกรรมของครูสู่นักเรียน เพื่อทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบรู้ลึก รู้จริง และรู้นาน ซึ่งควรจะมุ่งเน้นการสอนในรูปแบบนี้ตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัยไปจนถึงอุดมศึกษา เนื่องจากรูปแบบ Active Learning ถือเป็นการศึกษาวิถีใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบิ๊กล็อกปฏิรูปการศึกษา โดยที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนรูปแบบนี้เป็นอย่างมาก และอยากให้มีการเรียนรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วย

ด้านน.ส.ตรีนุช กล่าวว่า เรื่องการเรียนการสอน Active Learning เพื่อเป็นโมเดลในการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและในราชกิจจานุเบกษาที่กำหนดให้แก้ปัญหาด้านการศึกษาด้วยวิธีปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และกำหนดให้ปรับกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based curriculum) ในปัจจุบัน ให้ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะในยุคใหม่ (Competency-based Learning) โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ในลักษณะของการเรียน “วิธีเรียนรู้ (How to learn)” ที่ผู้เรียนสามารถนำไปเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ผ่านการรวบรวมข้อมูล (Gathering) การจัดข้อมูลให้เกิดความหมายผ่านการคิดวิเคราะห์ เพิ่มคุณค่า คุณธรรม ค่านิยม ออกแบบสร้างสรรค์ สร้างทางเลือก ตัดสินใจเลือกเป้าหมายแนวทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ (Processing) วางแผนลงมือทำ ตรวจสอบแก้ปัญหา พัฒนาไปสู่ระดับนวัตกรรม (Applying 1) โดยผู้เรียนสามารถสรุปเป็นความรู้ระดับต่าง ๆ จนถึงระดับหลักการ สามารถนำเสนอได้อย่างมีแบบแผน (Applying 2) และประเมินภาพรวมเพื่อกำกับความคิดและขยายค่านิยมสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางขึ้น (Self-Regulating) ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้ สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน และทางออนไลน์ เพื่อเข้ากับบริบทของผู้เรียนอย่างเหมาะสม

สิ่งสำคัญที่เป็นจุดเด่นของกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว คือการที่ผู้เรียนนำเอากระบวนการสร้างความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในชีวิตประจำวันและการเรียนเรียนรู้ในสถานศึกษา โดยผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จากนั้นนำไปต่อยอดได้ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปลาย โดยให้เด็กได้เรียนรู้แบบปฏิบัติการเชิงวิจัยนำไปเชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน เด็กแต่ละคนจะสามารถออกไอเดียในการยกระดับคุณภาพชีวิต ครอบคลุมการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ รวมถึงการประกอบอาชีพในอนาคต ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม เชิงบริการ และอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย นับว่าเป็นการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ การสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนก็มีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ระดับหลักการ สร้างนวัตกรรม และเสริมสร้างสมรรถนะ (Competency Learning) ให้นักเรียนเกิดสมรรถนะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการพัฒนาครูแบบ Coaching ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่บรรลุผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม เกิดเป็นโรงเรียนต้นแบบภาคเหนือ จำนวน 10 จังหวัด รวม 30 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 10 โรงเรียน โรงเรียนขนาดกลาง 10 โรงเรียน และโรงเรียนขนาดใหญ่ 10 โรงเรียน พบว่า ประสบผลสำเร็จและเกิดผลงานจากการปฏิบัติ เป็นนวัตกรรมทั้งของครูและนักเรียนจำนวนมากกว่า 1,500 นวัตกรรม และมีความคาดหวังว่าจะเกิดนวัตกรรมในปีการศึกษาต่อไปจำนวนกว่า 5,000 นวัตกรรม

“จากความสำเร็จดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจะเร่งขยายผลให้มีโรงเรียนต้นแบบในทุกภูมิภาคให้ทั่วประเทศโดยเร็ว และเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทุกสถานศึกษา เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และปฏิบัติตามนโยบายปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน” รมว.ศธ. กล่าว