จากกรณีเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ลงนามประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภทและการอื่นตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 พร้อมส่งหนังสือแจ้งไปยัง ผบ.เรือนจำ ผอ.ทัณฑสถาน ผอ.สถานกักขัง และผอ.สถานกักกัน เพื่อให้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ตนขอเรียนย้อนไปว่าใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติชัดเจนในมาตรา 33 โดยให้มีการออกกฎกระทรวง และเมื่อกฎกระทรวงมีการประกาศใช้ มาตรา 34 จึงกำหนดให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการออกระเบียบมารองรับ ดังนั้น ในส่วนของกฎกระทรวงพบว่าได้มีการออกมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ

1.เป็นการจำแนก แยก ควบคุม ผู้ต้องขัง หมายถึง เมื่อมีการจำแนกผู้ต้องขังแล้วพบว่าผู้ต้องขังรายใดสมควรที่จะอยู่ข้างนอกเรือนจำ ซึ่งอาจมีประโยชน์มากกว่าการอยู่ในเรือนจำ เราก็จำเป็นต้องนำตัวไปคุมขังภายนอกเรือนจำแทน 2.เป็นผู้ต้องขังที่ต้องพัฒนาพฤตินิสัย เนื่องจากการพัฒนาพฤตินิสัยจะรวมถึงอาชีพ การแก้ไขบำบัด ซึ่งวัตถุประสงค์นั้นมีความสำคัญ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็มีข้อจำกัดด้วยเรื่องทรัพยากร หรือขั้นตอนต่างๆ แต่ถ้ามีการนำตัวผู้ต้องขังไปพัฒนาพฤตินิสัยที่ข้างนอก อาจจะทำให้ผู้ต้องขังได้รับประโยชน์สูงสุด 3.นักโทษที่เจ็บป่วย การอยู่ในเรือนจำไม่มีประโยชน์ เพราะสภาพแวดล้อมในเรือนจำ หรือการดูแลต่างๆ จึงเล็งเห็นว่าหากได้รับการคุมขังดูแลภายนอกเรือนจำ หรือได้รับการดูแลจากครอบครัว อาจมีประโยชน์แก่ตัวผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยมากกว่า และ 4.เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เนื่องจากผู้ต้องขังแต่ละรายอยู่ในเรือนจำมาด้วยระยะเวลานานพอสมควร การปรับตัวภายในสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องยาก ราชทัณฑ์จึงต้องมีการเตรียมผู้ต้องขังให้พร้อมสำหรับกลับคืนสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ทั้งหมด 4 เหตุผลนี้จึงเป็นวัตถุประสงค์ที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎกระทรวง

ส่วนสาเหตุที่เพิ่งมีการลงนามประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ไปเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.นั้น นายสหการณ์ ชี้แจงว่า ตนมองว่ามันช้าไปเสียด้วยซ้ำ เพราะ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ บังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 แต่ขณะนี้ระเบียบดังกล่าวที่ประกาศออกมา ถือว่าเกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และปัจจุบันมันมีกฎหมายที่เร่งรัดให้แต่ละหน่วยงานต้องดำเนินการออกกฎหมายที่ค้างดำเนินการ อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานกระทรวงทำการออกกฎหมายของตัวเองให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ขยายเวลาไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี จึงหมายความว่ากว่าที่กฎหมายจะออกบังคับใช้ ได้มีการพิจารณากันอย่างชัดเจนแล้ว แต่ส่วนราชการมาดำเนินการล่าช้า จนทำให้ราชการเกิดความเสียหายและประชาชนเสียประโยชน์ ไม่ใช่ว่าจะลงนามประกาศคำสั่งเวลาใดตามใจ และตนยังยืนยันว่าการลงนามในครั้งนี้ ถือว่าล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นเสียด้วยซ้ำ

สำหรับกรณีที่ภาคสังคมจับตาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการลงนามคำสั่งออกระเบียบบังคับใช้เพื่อเอื้อต่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำหรือไม่นั้น นายสหการณ์ ระบุว่า อย่างที่ตนได้เรียนข้างต้น เพราะ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ออกบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงออกบังคับใช้ปี พ.ศ. 2563 ดังนั้น การที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รับหน้าที่บริหารและปล่อยปละละเลยเรื่องกฎหมายที่ควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เราจึงต้องมองไปถึงการบริหารโทษในปัจจุบัน ว่า มีนักโทษหลายรายที่ผ่านการรับโทษจำคุกมาได้สักระยะเวลาหนึ่งแล้ว และทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ การพัฒนาพฤตินิสัย การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และการคุมขังนอกเรือนจำ จึงมองว่าระเบียบที่ตนลงนามประกาศใช้จะเกิดประโยชน์มากกว่า นี่เป็นขั้นตอนวิธีการทางสากลที่ทำกัน ยอมรับว่าเราช้าไปเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม การออกระเบียบดังกล่าวไม่ได้มองว่าใครได้ประโยชน์ หรือว่าการออกระเบียบไปแล้วใครที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณา เราก็ต้องมองไปตามกฎกระทรวงและระเบียบที่กำหนดไว้ แต่ที่สำคัญผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะต้องได้รับการคัดกรองตั้งแต่ขั้นตอนของเรือนจำ จนเข้าสู่ขั้นตอนของคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง ทั้งนี้ กรณีของนายทักษิณ อย่างไรก็จะต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง เพราะการพิจารณาว่าจะเข้าเกณฑ์ได้รับประโยชน์คุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ จะต้องดูทั้งในเรื่องของระยะเวลาการรับโทษ พฤติกรรมระหว่างต้องโทษว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ประเมินความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ และดูว่าสถานที่คุมขังนั้นๆ มีความพร้อมที่จะดูแลผู้ต้องขังหรือไม่ ตนจึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้หรือไม่ จนกว่าทางเรือนจำจะมีการคัดกรองเสนอขึ้นมายังกรมราชทัณฑ์ โดยเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

นายสหการณ์ ระบุอีกว่า สำหรับกระบวนการที่แต่ละเรือนจำทั่วประเทศจะเริ่มพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดเข้าเกณฑ์ได้รับประโยชน์ที่จะไปคุมขังนอกสถานที่คุมขังนั้น คาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือน ธ.ค. ตามที่มีผลบังคับใช้ทันที โดยหลังจากนี้กรมราชทัณฑ์จะมีการแจ้งรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติไปยังแต่ละเรือนจำทั่วประเทศ ซึ่งในระดับเรือนจำจะมีคณะทำงานของเรือนจำนั้นๆ และตนยืนยันว่าระเบียบดังกล่าวไม่ได้หมายว่ากรมราชทัณฑ์ปล่อยผู้ต้องขัง เพราะผู้ต้องขังจะคงอยู่ในการควบคุมดูแลของราชทัณฑ์ แต่เพียงเปลี่ยนสถานที่ในการคุมขังเท่านั้น

นอกจากนี้ นายสหการณ์ กล่าวเสริมว่า หากเราสามารถระบายจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการควบคุมได้บ้าง แน่นอนว่าเราจะได้โฟกัสไปที่ผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ต้องขังในคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงเป็นหลักได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกเล็กน้อยและไม่มีความเสี่ยง ทั้งยังสูงวัยหรือมีอาการเจ็บป่วย บางครั้งเราเองก็ต้องดูแลผู้ต้องขังเหล่านี้ด้วย เรียกว่าทำให้ที่ผ่านมา เราไม่มีกำลังในการดูแลผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ได้มากเพียงพอ การออกระเบียบนี้ตนจึงมั่นใจว่าจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของกรมราชทัณฑ์สูงขึ้น และขณะเดียวกันก็จะได้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

ทั้งนี้ภายในช่วงสัปดาห์หน้าคาดว่าจะเริ่มมีการแจ้งไปยังเรือนจำทั่วประเทศ เพื่อให้ปฏิบัติตามระเบียบ โดยยึดตามแนวทางที่กรมราชทัณฑ์จะเรียนแจ้งไปเพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติ และตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.เป็นต้นไป แต่ละเรือนจำจะเริ่มการพิจารณาผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และรวบรวมรายชื่อเสนอต่อกรมราชทัณฑ์ต่อไป แต่เราคงไม่ไปตีกรอบเร่งรัดเรือนจำ เพราะต้องให้เวลาในการคัดกรองอย่างถี่ถ้วน เพราะถึงแม้ว่าในตอนนั้นผู้ต้องขังจะได้รับการคุมขังนอกเรือนจำ แต่เราก็ยังจะต้องคำนึงถึงความรอบคอบในการคุมขังด้วย.