เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 ธ.ค. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ราชประสงค์ กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ได้จัดเสวนาภายใต้ชื่องาน “Dailynews Talk 2023” โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ร่วมเสวนาในหัวข้อ “คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ” โดยมีผู้บริหารของเดลินิวส์ ประกอบด้วย นางประพิณ รุจิรวงศ์ กรรมการบริหาร นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหาร นายนต รุจิรวงศ์ เลขานุการคณะกรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ นายนนท์ รุจิรวงศ์ ผอ.ฝ่ายขายและจัดจำหน่าย และนายภาสภณ เหตระกูล ผอ.ฝ่ายขนส่งและยานยนต์ ร่วมให้การต้อนรับ

ต่อมาเมื่อเวลา 11.15. น.  ได้มีการเสวนาในเวทีที่ 2 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยต้องไปต่อ (อย่างไร)” โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอตุสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ร่วมเสวนา

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทย แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ อุตสาหกรรมเก่าหรือดั้งเดิม และอุตสหากรรมใหม่ โดยที่ผ่านมา 50 ปี อุตฯ เก่าเหล่านี้ยังอยู่ มีต้นทุนใหญ่ยังอยู่ที่แรงงานขึ้นก็ทำให้กำไรลดน่อยลง ปัจจุบันไทยมีคู่แข่งคือ ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่มีเสน่ห์เหมือนไทยใน 50 ปีที่แล้ว ขณะที่ไทยตอนนี้วัยแรงงานลดลง เข้าสู่สังคมสูงวัย ปี 65 ที่ผ่านมา เด็กเกิดใหม่ลดลงกว่าจำนวนเสียชีวิต จะส่งผลทำให้แรงงานลดลงเรื่อยๆ

ขณะที่ต้นทุนค่าแรงเพื่อนบ้านถูก ทำให้มีแต้มต่อ สินค้าเดียวกันผลิตไปอียู เพื่อนบ้านไม่ต้องเสียภาษานำเข้า ไทยยังไม่มี เอฟทีเอ ต้นทุนสู้ไม่ได้ สินค้าจึงย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามหมด โดย 4 โรงงานนั้น 1 มาไทย อีก 3 โรงงานไปเวียดนาม เป็นฐานการผลิต ทำให้ตัวเลขส่งออกเวียดนามดีกว่าไทย จึงเป็นเรื่องที่ต้องฟื้นฟู เราต้องมีสินค้าใหม่ๆ เป็นฐานผลิตใหม่ๆ จึงต้องมองอุตฯ แห่ง หรือ S-Curve นำนวัตกรรมเข้ามา และเรื่องบีซีจี และเรื่องการเปลี่ยนแปลงคุณภาพอากาศ จึงเป็น 3 เรื่องที่จะมีการผลักดัน

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า สภาอุตฯ มีโปรแกรมที่ช่วยในหลายเซ็กเตอร์ ต้องเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตให้มีดีไซน์ และแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งในโกลบอล แบรนด์​ไทยมีน้อยมาก ไม่กี่แบรนด์เท่านั้น นอกจากนนี้ ต้องเปลี่ยนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ใช้ดิจิทัลมากขึ้น ทรานส์ฟอร์มไปสู่สมาร์ตเอสเอ็มอี ต้องมี 3 อย่าง คือ โก ดิจิทัล, โก อินโนเวชั่น จิ และ โก โกลบอล สามารถเกาะเทรนด์ไปสู่ซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่ๆ ได้

นอกจากนี้เอสเอ็มอีต้องปรับตัว เช่น ตอนนี้มีเรื่องลดปล่อยคาร์บอนฯ ทางซัพพลายเชน ต้องเปลี่ยนไปด้วย ไม่เช่นนั้นไม่ได้รับการว่าจ้าง เช่น อุตฯ ยานยนต์ไทย ผลิตรถสัปดาปใช้น้ำมันเป็นอันดับ 10 ของโลก ผลิต 2 ล้านคัน และ 1 ล้านส่งออก แต่ปัจจุบันลูกค้ามุ่งไปสู่อีวี รถไฟฟ้า เช่น เทสลา ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เราต้องมีพื้นที่สร้างโรงงานและพลังงานสะอาดให้เขา ทางรัฐต้องสามารถสนับสนุนให้ได้

นอกจากนี้ยังต้องใช้ออโตเมชั่นเข้ามามากขึ้น การพัฒนาคนต้องนำงานวิจัยมาช่วย โดยสภาอุตฯ ร่วมกับ อว. ในการให้สนับเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพ จับคู่กับธุรกิจของสภาอุตฯ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลสภาพอากาศ ไม่ทำไม่ได้ ต่อไปการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากก็เสียค่าปทรับ จึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ช่วยเทรดคาร์บอนเครดิตให้ได้ง่ายขึ้น และต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไป ทรานส์ฟอร์มในอัตราเร่ง และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ก็รุนแรง จนกระทบซัพพลายเชน ไทยต้องดูแลเรื่องนี้ให้

“เราต้องปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ ส่วนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนกว่าแสนฉบับ ต้องได้รับการแก้ไข ต้องปรับโครงสร้างการศึกษา และพัฒนาทักษะแรงงานไทยที่ลดลงเมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน เพราะเป็นโจทย์ที่ใหญ่ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เชื่อว่าประเทศไทยมีทางรอด”

ด้าน นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวจะเป็นฮีโร่ตลอดไปของไทย เพราะตั้งแต่อดีตเกิดวิกฤติพลังงานปี 29 ต้มย้ำกุ้ง ปี 40 ภาคท่องเที่ยวจะช่วยเมืองไทยได้มาก สามารถรองรับแรงงานที่ตกงานจากภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งภาพท่องเที่ยวช่วยให้ประเทศไทยได้ 100% และเงินกระจายทุกภาคส่วน ท่องเที่ยวจะเป็นฮีโร่ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตตลอดไป

“นโยบายท่องเที่ยวมีศักยภาพ และมีจุดแข็งที่สุด แต่ต้องทำงานร่วมกับเรียลเซ็กเตอร์ ผู้ประกอบการที่อยู่ฐานราก ผู้ประกอบการท้องถิ่น ไปเจรจากับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ให้นำเอเจนซี่ไปเจรจาดึงนักท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการดึงดูด เช่นให้พักนานขึ้นเป็นสัปดาห์ ซึ่งการท่องเที่ยวคือการแปรรูปประสบการณ์ เพื่อนำเสนอขาย สร้างประสบการณ์ดีๆ แล้วส่งออกทั่วโลก การท่องเที่ยวผูกขาดไม่ได้ ทำอย่างไรรัฐต้องช่วยผลักดันผู้ประกอบการรายเล็กๆ ซึ่ง ยุคนายกฯ เศรษฐา สามารถทำท่องเที่ยวให้เป็นเศรษฐีได้ เราควรดีไซน์ท่องเที่ยว สู่ความยั่งยืน และสมดุลในทุกมิติ และต้องรักษาซัพพลายเชนให้ยั่งยืนด้วย”

นายชำนาญ กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากเสนอรัฐบาล คือ ทำให้ไทยเป็นเมืองเกษียณโลก ใน 5 ภาค จะสามารถดึงเงิน 15 ล้านล้านบาทเข้าประเทศทันที นอกจากนี้ในยุคดิจิทัลต้องช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยคนตัวเล็กให้เติบโตได้ อะไรเป็นปัญหาอุปสรรคก็แก้ไข เช่น เรื่อง วีซ่า เรื่องสนามบิน เรื่อง รถแท็กซี่ ฯลฯ ต้องค่อยๆ แก้ปัญหาไป และเสนอทำทัวริสซึ่มวอร์รูม เพราะเรียลเซ็กเตอร์ จะรู้ว่าใครเก่งอะไร  ทำทัวริสซึ่ม คลินิก และทัวริสซึ่ม ฟันด์ ปลดล็อกให้โรงแรมเล็กๆ เข้าถึงแห่ลงเงินทุน ต้องมีการระดมสมองจากทุกฝ่าย อยากเห็น เคพีไอ ด้านการท่องเที่ยว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คิดช่วยการท่องเที่ยวที่มีส่วนผลักดันจีดีพีได้ 20% ว่าภาคท่องที่ยวต้องทำอย่างไรบ้าง

ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวว่า ตลาดทุนไทยท้าท้าย แต่ปัจจุบันเงินทุนไหลออก ต่างชาติมองว่าที่อื่นมีเสน่ห์มากกว่า และยังมีปัญหาต่างๆ บริษัทในตลาดฯ เป็นต้น ทำให้ตลาดทุนไทยน่าสนใจลดลง จากนี้ไปต้องมองเรื่องคุณภาพ นักลงทุนต่างชาติอยากลงทุนอะไร เพราะปัจจุบันจะลงทุนในหุ้นไทย ไม่กี่สิบตัวจาก 800 ตัว หุ้นบางตัวเรื่องคุณภาพไม่ถึง มีบางตัวไม่มีคนซื้อขายเลย ทำให้ง่ายต่อการปั่น หัวใจสำคัญ คือ ทำให้หุ้นมีคุณภาพมากขึ้น น่าสนใจมากขึ้น มากกว่าที่มี แต่หุ้นอสังหาฯ พลังงาน กลุ่มแบงก์ เช่น ขณะนี้โลกกำลังลงทุนนิวเทคโนลยี แต่หุ้นไทยไม่มีกลุ่มนี้ เช่น เรื่องเอไอ ทำอย่างไรให้มีหุ้นเหล่านี้เข้ามาในตลาดมากขึ้น และไปโตในตลาดต่างประเทศได้ และต้องทำให้มีหุ้นด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล เข้ามาเพิ่มขึ้น

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มแบงก์ ผลประกอบการดีมาก มีโอกาสด้านสินเชื่อมาจากโรงงานต่างต้องทรานส์ฟอร์มด้วยเทคโนโลยี เปลี่ยนโรงงานไทยเข้าสู่ 4.0 การปล่อยสินเชื่อด้านนี้ยังมีโอกาส ขณะที่ทุนต่างๆ ที่เข้ามา เช่น โรงงานรถยนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่นายกฯ ไปคุยไว้ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ นอกจากนี้ เมื่อบริษัทไทยออกไปทำธุรกิจยังต่างประเทศ ก็จะมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น เป็นโอกาสของกลุ่มแบงก์ อย่างไรก็ตามมองว่าในปีหน้าการแข่งขันของธุรกิจแบงก์จะมีมากขึ้น หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดดิจิทัลไลเซนส์เพิ่ม

สำหรับเรื่องสินเชื่อของคนที่เข้าไม่ถึง การแก้หนี้นอกระบบสำคัญ ไทยมีปัญหาเรื่องนี้มา 2-3 ปี ตั้งแต่ช่วงโควิด คนต้องขายสินทรัพย์ และสร้างหนี้ โดย 20% ของคนไทยมีหนี้นอกระบบ จ่ายหนี้นานแต่เงินต้นยังอยู่ จึงต้องมีกฎหมายหมาย 2 ฉบับว่าดอกเบี้ยต้องไม่เกินเท่าไร เช่น 15% แต่หนี้นอกระบบคิดเกิน 20% และ ก.ม.ทวงหนี้ ต้องระบุมีขั้นตอนอย่างไร หนี้นอกระบบมีได้แต่ดอกเบี้ยต้องไม่ถึง 20%

“อย่างแรกต้องยอมรับประเทศมีปัญหา เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เศรษฐกิจโตลดลง รายได้น้อยว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งสาเหตุมาจากเรื่องทักษะแรงงาน ต้องได้รับการแก้ไข ให้มีทักษะที่จะเพิ่มรายได้ และสุดท้ายต้องยอมรับว่า เสน่ห์ไทยลดลงเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่แล้ว ค่าไฟแพง แรงงานแพง นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น”

ดร.กอบศักดิ์ แนะนำว่า ไทยต้องเห็นทางออก ต้องพลิกเกมเอาจุดแข็งมาเป็นจุดขายได้อย่างไร ประเทศไทยมีจุดแข็ง 3 เรื่อง คือ 1.เรื่องที่ตั้ง ที่สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อยังภูมิภาคอื่นๆ ได้ 2 .เมืองไทยน่าอยู่ จึงต้องเปิดประเทศ แก้กฎเกณฑ์ให้ต่างชาติมาได้ง่ายมากขึ้น จากที่เข้ายาก และสุดท้าย คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่สงบที่สุดและเป็นกลาง ใครก็อยากเข้ามา ที่จะเป็นสิ่งดึงดูด การแก้ปัญหาต้องทำทีละอย่างทีละเรื่อง ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันได้อย่างแน่นอน.