สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ว่า การศึกษาดังกล่าวได้รับความสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ และพันธมิตรของกลุ่มความร่วมมือ เพื่อการปรับปรุงอาหารเสริมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกันประเมินอาหารธัญพืชสำหรับทารก ซุปข้น อาหารเหลวแบบซอง ของขบเคี้ยว และอาหารพร้อมรับประทาน จำนวนกว่า 1,600 รายการ ที่จำหน่ายสำหรับเด็กเล็ก ในกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม


ผลการศึกษาพบว่า ผลิตภัณฑ์ร้อยละ 44 เติมน้ำตาลเพิ่มและมีสารให้ความหวาน และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72 สำหรับสินค้ากลุ่มของขบเคี้ยวและอาหารแบบพอดีคำ และมากกว่าหนึ่งในสาม มีปริมาณโซเดียมเกินระดับที่แนะนำ


ในด้านพฤติกรรมผู้บริโภค อาหารเสริมเชิงพาณิชย์มีความสำคัญต่อรูปแบบการรับประทานอาหารของกลุ่มประชากรเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ประเทศทั้ง 7 แห่งในการสำรวจ ยังไม่มีนโยบายระดับชาติ ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำระหว่างประเทศเกี่ยวกับส่วนประกอบ และการใช้ฉลากของกลุ่มอาหารเหล่านี้ ขณะที่หลายประเทศขาดมาตรการทางกฎหมาย ในการควบคุมปริมาณน้ำตาลและเกลือ


นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบการใช้คำอวดอ้างจำนวนมาก โดยมีการอ้างถึงส่วนประกอบผลิตภัณฑ์หรือปริมาณสารอาหาร ปรากฏในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการประเมินเกือบร้อยละ 90 ซึ่งคำกล่าวอ้างทั่วไปที่ปรากฏในผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาล เกลือ หรือไขมันสูง ได้แก่ “จากธรรมชาติทั้งหมด”, “แหล่งวิตามินดี” และ “ไร้ส่วนผสมปรุงแต่ง”


ยูนิเซฟและพันธมิตรเรียกร้องการปรับปรุงกฎระเบียบของรัฐบาล อาทิ การห้ามเติมน้ำตาลเพิ่มและสารให้ความหวาน การจำกัดปริมาณน้ำตาลและโซเดียม การป้องกันการทำตลาดที่ชักจูงให้เข้าใจผิด การตรวจสอบและการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาล ตลอดจนการให้การสนับสนุนผู้ปกครอง ท่ามกลางตลาดที่อาจสร้างความเข้าใจผิด เกี่ยวกับอาหารเสริมเชิงพาณิชย์.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES