เอ่ยชื่อ โยนาส คินเด หลายคนอาจเลิกคิ้วด้วยความสงสัย แต่ถ้าบอกว่านี่คืออดีตนักวิ่งมาราธอนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิตมามากมาย ตั้งแต่การจากลาเอธิโอเปียบ้านเกิด ด้วยสถานะเป็นผู้ลี้ภัย จนกระทั่งได้เข้าร่วมแข่งขันในศึกโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอ เดจาเนโร เชื่อว่าน่าจะทำให้เรื่องราวของเขาน่าสนใจขึ้นมาทันที

ถ้าจะย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น โยนาส ซึ่งได้รับเชิญจากงาน “บางแสน 21” และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ “UNHCR” ให้มาร่วมวิ่ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในงาน “บางแสน 21” เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มชื่นชอบการวิ่งมาตั้งแต่อายุ 14-15 ปี เขามักจะเอาเงินที่แม่ให้ไว้เป็นค่ารถไปซื้อขนม และใช้การวิ่งจากบ้านไปโรงเรียนแทน ในระยะทาง 8 กิโลเมตร

จนกระทั่งคุณครูพละเห็นแวว และแนะนำให้เขาเอาจริงเอาจังกับการวิ่ง บวกกับการได้รับรู้เรื่องราวของ อเบเบ บิคิลา ยอดนักวิ่งชาวเอธิโอเปีย ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ด้วยการวิ่งเท้าเปล่า รวมถึงคว้าเหรียทองโอลิมปิกเกมส์ 1964 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจทำให้เขาอยากเป็นนักวิ่งมาราธอนตามรอยไอดอลของตัวเอง

หลังจากนั้น โยนาส เริ่มแข่งขันจริงจังตอนเรียนมหาวิทยาลัย แต่เมื่อชะตาชีวิตพลิกผัน เขาต้องเดินทางออกจากเอธิโอเปียบ้านเกิด ในฐานะผู้ลี้ภัย ไปอยู่ที่ลักเซมเบิร์ก ในปี 2012 โดยช่วงแรกเขาอาศัยอยู่คนเดียว พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ การวิ่งจึงเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขาหายเหงา และเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เขาได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่

โยนาส เล่าให้ฟังว่า เขาซ้อมอย่างมีวินัย จนสถิติดีพอที่จะลงแข่งขันให้ทีมชาติลักเซมเบิร์ก แต่ด้วยความที่เขามีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย จึงขาดคุณสมบัติที่จะติดทีมชาติ แต่โชคชะตายังเข้าข้าง เมื่อเขาได้รับการติดต่อจากนักข่าวรายหนึ่งว่า เขามีโอกาสที่จะได้ไปแข่งในศึก “รีโอเกมส์” ในฐานะทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัย และได้รับการตอบรับหลังจากส่งเอกสารเพื่อลงสมัครไปนานกว่า 2 เดือน

นั่นทำให้ความฝันอันสูงสุดของเขา ในการได้ร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็นความจริงขึ้นมา เขาได้เป็น 1 ใน 10 นักกีฬาผู้ลี้ภัย ที่ได้ร่วมแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนั้น

โยนาส เล่าให้ฟังต่ออีกว่า เขาจดจำทุกวินาทีที่ได้มีส่วนร่วมในโอลิมปิกเกมส์ 2016 ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการได้ร่วมพิธีเปิดการแข่งขัน การต้อนรับอย่างดีจากทีมงานของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และ UNHCR

และในวินาทีที่ยืนอยู่ที่จุดสตาร์ต โยนาส เล่าพร้อมน้ำตาที่คลอหน่วย ว่าในหัวของเขาคิดอยู่อย่างเดียวว่าเมื่อได้รับโอกาส เขามีหน้าที่ต้องทำให้เต็มที่ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า นักกีฬาที่เป็นผู้ลี้ภัยนั้น ก็มีศักยภาพและความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากนักกีฬาชาติอื่น ๆ

แม้ในครั้งนั้น เขาจะเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 90 จากนักวิ่ง 155 คน แต่ โยนาส บอกว่าสำหรับเขา เขาพอใจและสนุกกับทุกวินาที และที่สำคัญที่สุด คือการที่เขาได้เป็นตัวแทน และมีโอกาสเรียกร้องให้โลกหันมาให้ความสนใจเหล่าผู้ลี้ภัยราว 36 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะบรรดาเด็ก ๆ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการต้องเป็นคนไร้สัญชาติ

แม้เวลานี้ โยนาส จะไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย เนื่องจากได้รับสัญชาติลักเซมเบิร์ก มาตั้งแต่ปี 2020 และได้เป็นนักวิ่งทีมชาติลักเซมเบิร์กไปแล้ว แต่เขายังคงช่วยงานของ UNHCR อยู่อย่างต่อเนื่อง

และสิ่งที่เขาอยากบอกกับผู้ลี้ภัยทั้งหลาย รวมถึงบรรดาผู้พลัดถิ่นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งมีมากถึง 114 ล้านคนทั่วโลก คือจงทำตัวเองให้แข็งแกร่ง ทั้งร่างกายและจิตใจ และจงมุ่งมั่นที่จะหาเพื่อนและทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจ แล้วความยากลำบากทั้งหลายจะกลายเป็นอดีต ชีวิตที่ดีขึ้นจะเข้ามา และอยากเชิญชวนให้คนไทย ช่วยสนับสนุนบรรดาผู้ลี้ภัยและ UNHCR เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น