เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีกลุ่มเชื่อถือศรัทธา น้องไนซ์ เด็กชาย 8 ขวบ อ้างเป็นร่างอวตารองค์เพชรภัทรนาคานาคราช สามารถเชื่อมจิตได้ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ไม่เชื่อ และมีการบิดเบือนตัดต่อภาพน้องไนซ์คล้ายพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนเห็นต่างนำโดย เค สามถุยส์ และ อี้-แทนคุณ จิตอิสระ ขอให้ตรวจสอบเรื่องที่กลุ่มผู้ศรัทธา มีการเรียกเก็บเงินเพื่อเข้าคอร์สฝึกสมาธิเชื่อมจิตหลัก เนื่องจากอาจเข้าข่ายหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน ว่า เรื่องดังกล่าว ผบ.ตร. ได้รับทราบแล้ว ส่วนจะเป็นการหลอกลวงหรือไม่ ต้องมีการตรวจสอบ เพราะเป็นความเชื่อและศรัทธาของกลุ่มคนที่เห็นว่า การทำพิธีและพบกับน้องไนซ์ อาจจะได้ผลตามที่ตั้งมั่นไว้ และเกิดความคิดในทางบวก ขณะเดียวกันก็มีอีกกลุ่มที่มองว่าเป็นการหลอกลวงหรือแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและเยาวชนหรือไม่ ต้องมีการตรวจสอบ โดยประเด็นแรก สั่งการให้ตำรวจพื้นที่ลงไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ประเด็นที่สองตรวจสอบทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น มีการโพสต์โฆษณาเชิญชวน ต้องดูพฤติการณ์ว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่อย่างไร

ส่วนจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ หรือไม่นั้น พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ตำรวจต้องมีการตรวจสอบทุกความผิดที่อาจเกี่ยวข้องทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนผู้ปกครองเด็กจะต้องเชิญมาสอบหรือให้ปากคำหรือไม่นั้น ตรงนี้เป็นกระบวนการที่ต้องทำดำเนินการทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่เกิดเหตุ เชิญผู้ปกครองหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพยานที่พบ หรือเข้าไปทำพิธี มาสอบปากคำทั้งหมด

เมื่อถามว่ากลุ่มที่มาร้องเรียนไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรง จะสามารถดำเนินคดีได้หรือไม่นั้น รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ไม่ได้เป็นปัญหาอยู่แล้ว เพราะหากตรวจสอบพบว่าเป็นความผิดต่อรัฐ เจ้าหน้าที่ก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้เอง แต่หากความผิดส่วนตัว เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกระทำนั้น ต้องมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ส่วนกรณีน้องไนซ์ 8 ขวบ ขอเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ส่วนที่มีประชาชนหลายคนมาร้องให้ดำเนินคดี ก็ต้องยืนยันว่าตัวเองเป็นผู้เสียหายในคดี เช่น สูญเสียทรัพย์สิน สามารถใช้สิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษได้

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า หากพบว่ามีการแสวงหาผลประโยชน์หลอกลวงจากความเชื่อศรัทธาของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด มีกฎหมายบัญญัติไว้อยู่แล้ว ตำรวจสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ หากประชาชนท่านใดที่รู้สึกว่าตนเองถูกหลอกลวงได้รับความเสียหาย สามารถมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับบุคคลที่มาฉ้อโกงได้ทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ พร้อมฝากถึงประชาชนที่ต้องการหาที่พึ่งทางใจ และเข้าไปหลงเชื่อศรัทธาแบบงมงาย และเสี่ยงถูกหลอกว่าเรื่องความเชื่อศรัทธาเป็นเรื่องที่ว่ากันไม่ได้ เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่อยากให้ใช้วิจารณญาณว่าสิ่งที่เราไปเคารพบูชา มีข้อเท็จจริงหรือไม่อย่างไร และเป็นเรื่องลวงโลกหรือไม่ หากเห็นว่าไม่ดี ดูแล้วแปลกๆ น่าจะเป็นการหลอกลวง ขอให้แจ้งตำรวจเข้าไปตรวจสอบ หรือหากตกเป็นเหยื่อ ขอให้แจ้วความเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อป้องกันระงับยับยั้งไม่ให้ไปหลอกลวงคนอื่นต่อไป