เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมสัมมนา เรื่อง “การติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” โดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดการประชุม ดร.มารุต พัฒผล หัวหน้าพหุสาขาพหุวิทยาการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และ ดร.ลัดดา หวังภาษิต อาจารย์จาก มศว เสนอผลการวิจัย เรื่อง การติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะและทักษาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ดร.ภูมิพัทธ กล่าวว่า สกศ. ได้มอบหมายทีมวิจัยจาก มศว ลงพื้นที่วิจัยเรื่องการจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ส่งผลต่อการเรียนรู้ และทักษะของผู้เรียนศตวรรษที่ 21 มากน้อยเพียงใด ซึ่งทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลในการจัดการศึกษาทุกระดับชั้น และจะลงไปรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนที่มีความหลากหลาย ความคาดหวังในการนำผลวิจัยไปใช้ คือ หลังจากที่เราเผชิญหน้าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การศึกษาเจอการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้เรียนมีภาวะความรู้ถดถอย ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้เรียนไม่สามารถไปเรียนได้ ต้องปรับวิธีการเรียนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ขณะเดียวกันครูต้องเพิ่มทักษะในการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งผลในการจัดสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายโดยการนำผลการวิจัยมาปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงผลการสอบ PISA

“ผลจากการวิจัยดังกล่าว สกศ. จะจัดทำข้อเสนอทางการศึกษา เพื่อเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ที่มอบนโยบาย เรียนดี มีความสุข ซึ่งคำว่าเรียนดีนั้น ไม่ได้หมายถึงการเรียนเก่ง แต่หมายถึงให้เด็กสามารถเรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนอย่างมีคุณภาพ มีทักษะ นำไปสู่การมีงานทำ” ดร.ภูมิพัทธ กล่าว

ด้าน ดร.มารุต กล่าวว่า จากงานวิจัยนี้พบประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ คือ การจัดการเรียนการสอนของครู โดยพบว่าการจัดการเรียนการสอนเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบกับบทบาทของครูจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน แต่ปัจจุบันครูเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนอยากจะเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยงานวิจัยมีข้อเสนอแนะ คือ ต้องเร่งพัฒนาครูให้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นโค้ชอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถทำได้เลย รองลงมาคือ ผอ.โรงเรียน เพราะครูกับ ผอ.โรงเรียน จะเป็นกุญแจสำคัญ และเป็นนโยบายเร่งด่วนที่เราจะต้องรีบพัฒนา ข้อเสนอแนะต่อมาคือเรื่องของหลักสูตร ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักสูตรมีเนื้อหาค่อนข้างจะมาก และส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน รวมถึงเรื่องของงบประมาณด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่างานวิจัยนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะไปช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักสูตร เรื่องการพัฒนาบุคลากร และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ขณะที่ ดร.ลัดดา กล่าวว่า จากงานวิจัยยังพบว่าจะต้องช่วยครูในรูปแบบของการโค้ช คนที่เข้าไปประเมิน เช่น ศึกษานิเทศก์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับครู ควรจะรับฟังปัญหา ความภาคภูมิใจของครู ว่าที่ผ่านมาครูได้อะไรไปแล้วบ้าง ถ้ามีอะไรที่ครูสะท้อนกลับมา เราจะถามคำถามย้อนกลับไป เพื่อให้ครูได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ทั้งนี้ เคยมีนักวิจัยพูดว่าการโค้ช คือ การดึงเอาทุกสิ่งทุกอย่างออกมา เวลาเราสอน หรือเราบอกความรู้ เด็กอาจได้ความรู้ได้ไม่เต็มเปี่ยมเท่ากับการให้เด็กรู้จักและค้นพบด้วยตนเอง ซึ่งตนมองว่างานวิจัยครั้งนี้ จะช่วยให้เราเห็นข้อจำกัดทางการศึกษา และจะทำยังไงที่จะสะท้อนให้ครูเห็นว่าครูไม่ได้อยู่คนเดียว สู้คนเดียว ยังมีคน มีหน่วยงานที่อยากจะช่วยเหลืออยู่