เพราะความที่ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” มิใช่เพียงแค่สถานศึกษาของสงฆ์วัดแรกที่ใช้นาม “วิทยาลัย” จากมหาธาตุวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หากแต่ยังเป็นสถานที่สอนวิปัสสนากรรมฐานแนวสติปัฏฐาน 4 ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สันนิษฐานว่า วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ หรือชื่อเดิม “วัดสลัก” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดั่งปรากฏในศิลาจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปหิน พระประธานในอุโบสถ อักษรที่จารึกนั้นเป็นอักษรในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในปี พ.ศ. 2228 ดังนั้นหากนับจนถึงปัจจุบันวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้ จะมีอายุครบ 338 ปี จึงมีการจัด “งานสมโภชพระอาราม ๓๓๘ ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการ คุณงามความดีที่บูรพมหากษัตริย์และบูรพาจารย์ผู้ได้สร้างวัดมหาธาตุให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของอนุชนคนรุ่นหลัง ทำให้มีความรู้ความสามารถตั้งตนในทางที่ชอบได้

การจัดงานครั้งนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2567 และเพื่อรำลึกถึงบูรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์และเหล่าบูรพาจารย์ที่ได้สร้างและทำนุบำรุงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบัน

โดยมีกิจกรรม เจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารเพล ทำวัตรเย็น คอร์สปฏิบัติธรรม รวมถึงการจัดเสวนาเรื่องงานของพระธรรมทูต นิทรรศการทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และการจัดแสดงนิทรรศการ 338 ปีวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พร้อมกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย

ทั้งการจัดการแสดงประดับไฟILLUMINATE  LIGHTING  SHOW โดยการใช้แสง สี ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมงานใน Concept “การเดินทางด้วยแสงแห่งปัญญา : JOURNEYING THROUGH LIGHT OF WISDOM” การแสดงดนตรี ILLUMINATE WITH THAI JAZZ CONCERT จาก THE  SOUND  OF  SIAM, วงดนตรีร่วมสมัยกอไผ่, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ คุณปุ้ย ดวงพร พงศ์ผาสุก, วงเสียงไทยคอรัส, วง SU Feroci Light Orchestra โดย อาจารย์ดำริห์ บรรณวิทยกิจ, Thai Symphony Brass Quinte โดย อ.สุกรี เจริญสุข และวงขุนอิน เดอะบางสะพาน ตามมาด้วยการแสดงวัฒนธรรม การแสดงดนตรีไทย, โขน, รำไทย, ลิเก, กองสะบัดชัย และโนราห์เยาวชน เป็นต้น

พลาดไม่ได้กับ “ตลาดวัฒนธรรมย่านวังหน้า ร.ศ. ๒๔๑” กับ คิดถึงวันวาน ย่านวังหน้า : ลิ้มรสอาหารอร่อยแบบไทยโบราณ ของอร่อยประจำย่าน อุดหนุนงานหัตถศิลป์ เครื่องหอม เครื่องประดับ งานปั้น งานจักสาน และสินค้าเด่น เสน่ห์ย่านท่าพระจันทร์ : พบแพทย์แผนไทย นวดบำบัด ตำรับยาโบราณ พยากรณ์ดวงชะตา เลือกซื้อของเก่าของสะสม Workshop & DIY : จัดดอกไม้ถวายพระ จัดพานพุ่ม จัดโต๊ะหมู่บูชา ร้อยมาลัย สอยกัลปพฤกษ์ : อธิษฐานจิตรับรางวัลจากต้นกัลปพฤกษ์ สัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียน : ย้อนไปวันวาน เรื่องเล่าย่านวังหน้า ภาพเก่าเล่าเรื่อง เสริมศิริมงคล : จำหน่ายชุดสังฆทาน ไทยทาน ถวายพระ ของฝาก สำหรับญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เคารพรัก เลือกของขวัญปีใหม่ และ กิจกรรมเสบียงบุญ : ถวายสังฆทานพระสงฆ์, บริจาคร่วมบุญบูรณปฏิสังขรณ์วัด 339 บาท รับพระสมเด็จอรหัง เป็นที่ระลึกเพื่อการบูชา

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการพิเศษในพระอุโบสถ จัดแสดงเครื่องโต๊ะลายครามงดงามลํ้าค่า และคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ตั้งแต่ยุคแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงต้นฉบับใบลานเทศน์ลายมือสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) และผ้าห่อคัมภีร์โบราณหลากหลายลวดลายที่หาชมยาก

แล้วอย่าลืมไปสักการะ 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด เริ่มด้วย “พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ” (พระเจดีย์ทอง) ในพระมณฑป ซึ่ง สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างพระมณฑปสูง 10 วา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อเป็นที่สักการบูชา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ สันนิษฐานว่า ภายในพระเจดีย์ทองนี้ได้บรรจุพระอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ไว้ด้วย

“พระศรีสรรเพชญ” พระประธานใหญ่ในพระอุโบสถ “บวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท” กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเป็นแม่ทัพผู้ทรงพระปรีชาสามารถสูงทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเป็นผู้ก่อสร้างพระราชวังบวรสถาน บูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุและทรงส่งเสริมงานศิลปะสาขาอื่น ๆ “พระประธานศิลาแดง” (หลวงพ่อหิน) พระประธานในอุโบสถวัดสลัก ปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารหลวง และ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งพระสมณทูตไทยได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ มาปลูกไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2361 ปัจจุบันมีอายุ 205 ปี

ส่วนอาคารสีสดมีพระบรมรูป สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ประดิษฐานด้านหน้าคือ “ศูนย์วิปัสสนากรรมฐานนานาชาติ” การเป็นแหล่งเรียนรู้การปฏิบัติกรรมฐานของวัดมหาธาตุฯ เริ่มจาก พระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) ในช่วงรัชกาลที่ 5 เล่ากันว่ามีไก่ป่ามาอาศัยในวัดจำนวนมาก ก็ด้วยเมตตาของสังฆราชสุก ตั้งแต่นั้นมาเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ก็ส่งเสริมกรรมฐานเรื่อยมา โดยศูนย์การเรียนวิปัสสนาเปิดอย่างเป็นทางการในสมัย สมเด็จพระพุฒาจารย์ อาจ อาสภมหาเถระ ได้นิมนต์เจ้าคณะพระสังฆาธิการผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางวิปัสสนากรรมฐาน มาประชุมร่วมกันตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา มีการประกาศให้พระวิปัสสาจารย์ได้รู้ทั่วกันว่าจะมีการเผยแผ่ไปทั่วประเทศ ตั้งแต่นั้นญาติโยมก็มาปฏิบัติกัน เมื่อมีฆราวาสสนใจมาเรียนวิปัสสนามากขึ้น พระอุโบสถใหญ่มีพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงได้มีการสร้างศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนานาชาติแห่งนี้ขึ้น

งานสมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึง 2 มกราคม 2567 เวลา 08.30-22.00 น. โดยในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จะมีกิจกรรมเจริญจิตตภาวนาสวดมนต์ข้ามปีเข้าสู่พุทธศักราชใหม่ ซึ่งจะมีการแจกเทียน LED ให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานด้วย ติดตามกิจกรรมที่ เฟซบุ๊ก : งานสมโภชพระอารามหลวง ๓๓๘ ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ https://www.facebook.com/watmahathatu338/

อธิชา ชื่นใจ