ผ่านไปกว่า 3 ปี 7 เดือน ในที่สุด ศาลจังหวัดมุกดาหาร อ่านคำพิพากษาคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ เด็กหญิงวัยเพียง 3 ขวบ แห่งบ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร โดยศาลพิพากษา นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 20 ปี พร้อมชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ส่วน น.ส.สมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น ภรรยาลุงพล ให้ยกฟ้อง ท่ามกลางความดีใจของครอบครัวน้องชมพู่ ที่หลั่งน้ำตาปลาบปลื้มกับความเป็นธรรมที่ได้รับ ขณะที่ครอบครัวฝั่งลุงพล ซึ่ง ป้าแต๋น ภรรยาลุงพล และเป็นพี่สาวตามสายเลือดของแม่น้องชมพู่ ก็ยืนยันจะขอต่อสู้อย่างถึงพริกถึงขิง เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของสามี

อย่างไรก็ตาม เชื่อหรือไม่ว่า คดีน้องชมพู่ ที่เป็นข่าวโด่งดังและสังคมเฝ้าจับตากระบวนการยุติธรรม ในการสืบหาคนร้ายตัวจริงนั้น กระบวนการในการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งจากพยานบุคคล และพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ ใช้เวลานานถึง 3 ปี 7 เดือน กว่าจะมีบทสรุปจากศาลจังหวัดมุกดาหาร ถึงแม้กระบวนการผ่านไปแค่ศาลชั้นต้น ยังเหลือขั้นตอนของศาลอุทธรณ์ และอาจยืดเยื้อไปถึงศาลฎีกา แต่ที่ผ่านมานั้น เพียงคดีนี้คดีเดียว ก็ผ่านการสั่งการของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. ถึง 4 คนทีเดียว ถือว่าเป็นคดีที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของคดีอาชญากรรมประเทศไทยเลยทีเดียว และทีมข่าวเดลินิวส์ จะพามาย้อนดูไทม์ไลน์สำคัญในคดีนี้ ตลอด 3 ปี 7 เดือนที่ผ่านมา คดีน้องชมพู่ เกิดขึ้นในยุคผู้นำแห่งยุทธจักรสีกากีคนไหนกันบ้าง

จุดเริ่มปริศนาฆาตกรรม ‘น้องชมพู่’ เกิดขึ้นยุค ‘บิ๊กแป๊ะ’

คดีน้องชมพู่ ต้องย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 63 ขณะนั้น น้องชมพู่ อายุได้ 3 ขวบ เกิดหายตัวปริศนาไปจากบริเวณหน้าบ้านของ น.ส.จุไรภรณ์ สุขพันธุ์ หรือ น้าต่าย เป็นบ้านที่ติดกับบ้านของน้องชมพู่ ซึ่งครอบครัวและชาวบ้านระดมการค้นหาอย่างสุดความสามารถ กระทั่งช่วงเย็นวันที่ 14 พ.ค. 63 พบศพน้องชมพู่ นอนเสียชีวิตบนภูเหล็กไฟ เขตอุทยานแห่งชาติภูผายล ห่างจากบ้านน้องชมพู่ประมาณ 2 กม. ในสภาพเปลือยกาย พบร่องรอยหนามเกี่ยวตามแขนและขา บริเวณที่เกิดเหตุพบกางเกงน้องชมพู่ถูกถอดไว้ข้างก้อนหิน และรองเท้าหล่นอยู่ระหว่างทางเดิน โดยตำรวจเชื่อว่าเด็กหญิงผู้เสียชีวิตไม่ได้พลัดหลงป่าหรือเข้าไปในป่าเพียงคนเดียว มั่นใจว่ามีคนนำพาตัวไปที่จุดเกิดเหตุ ต่อมาแผนกนิติเวช รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ยืนยันผลชันสูตร ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายและการล่วงละเมิดทางเพศ ระบุ “ไม่ปรากฏสาเหตุการตาย แต่พบบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ” ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิด หรือสาเหตุใดแน่ชัด เวลาการเสียชีวิตนั้น แพทย์ผู้ชันสูตรและผู้เชี่ยวชาญยืนยันได้ว่า น้องชมพู่เสียชีวิต อยู่ในห้วงเวลาระหว่าง วันที่ 12 พ.ค. 63 เวลาประมาณ 14.30 น. ถึงวันที่ 13 พ.ค. 63 เวลาประมาณ 14.30 น. ก่อนที่ครอบครัวฌาปนกิจศพน้องชมพู่ ที่ป่าช้าบ้านกกกอก วันที่ 20 พ.ค. 63 โดยเผาแบบเชิงตะกอนแบบโบราณ

ขณะที่ตำรวจ ยุค พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือ บิ๊กแป๊ะ เป็น ผบ.ตร. ถึงกับยอมไม่ได้ ต้องส่งทีมตำรวจจากส่วนกลางไปช่วยคลี่คลายคดี นำโดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้น พร้อมตำรวจยอดฝีมือจากสืบสวน บช.น. อาทิ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ พล.ต.ต.ณัฐนนท์ ประชุม พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร พล.ต.ต.ชัชชัย วงค์สุนะ พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม พ.ต.ท.พูนสุข เตชะประเสริฐพร ลุยต่อจิ๊กซอว์แกะรอยคดี ล่าตัวคนร้ายใจอำมหิต พิสูจน์ฝีมือตำรวจไทย ซึ่งการเริ่มต้นคดีนี้ยากมาก เนื่องจากไม่มีพยานบุคคลที่เห็นในนาทีน้องชมพู่หายไป รวมทั้งหมู่บ้านนี้ไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่สามารถเช็กสัญญาณเชื่อมโยงมือถือ เพื่อค้นตำแหน่งบุคคลได้ แต่ชุดสืบสวนพบว่าครอบครัวน้องชมพู่ ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ไม่ร่ำรวยจนเข้าข่ายจับตัวไปเรียกค่าไถ่ จึงเชื่อว่าคนร้ายต้องเป็นคนใกล้ชิด ที่เด็กมีความคุ้นเคยถึงขั้นยอมไปด้วย เพราะในความจริงเด็ก 3 ขวบ ไม่สามารถจากบ้านด้วยตัวเอง มีความกลัวพื้นที่ป่า ไม่สามารถเดินขึ้นไปยังภูเหล็กไฟได้เอง ส่วนสภาพศพไม่สวมเสื้อผ้า เด็กแค่อายุ 3 ขวบ เชื่อได้ว่า ไม่สามารถถอดเสื้อผ้าด้วยตัวเองแน่นอน จึงสันนิษฐานได้ชัดเจนว่า มีฆาตกรอำพรางคดีแน่นอน

การดำเนินการสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีเป็นไปอย่างเข้มข้น แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถเข้าถึงบุคคลต้องสงสัยได้ เนื่องจากยังไม่มีประจักษ์พยานและหลักฐานชัดเจน อีกทั้งแนวทางสำคัญของคดี กลับยิ่งไปทำให้เกิดเซเลบของบ้านกกกอกกำเนิดขึ้นมา นั่นก็คือ ลุงพล และป้าแต๋น ซึ่งถือเป็นบุคคลต้องสงสัยทางคดี แต่กลับโด่งดังเป็นพลุแตก จนวันที่ 25 ก.ย. 63 ก่อน พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะเกษียณอายุราชการ ได้แถลงข่าวย้ำอย่างชัดเจนว่า ตำรวจยังคงสืบสวนสอบสวนคดีน้องชมพู่อยู่ และไม่ได้ทิ้งคดีดังกล่าว พร้อมยอมรับว่าการทำคดีบางครั้ง กระแสสังคมก็กดดันการทำงานของตำรวจเกินไป การมีตัวละครคนละฝั่งสองฝั่งไม่ได้สร้างสรรค์ แต่ตำรวจจะทำเต็มที่และมีกรอบระยะเวลา

พบ 8 ปมตาย ‘น้องชมพู่’ ชิงรวบ ‘ลุงพล’ ยุค ‘บิ๊กปั๊ด’

พลัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ เกษียณอายุราชการ ก้าวลงจากนามเรียกขาน ‘พิทักษ์ 1’ ไม้ต่อเก้าอี้ผู้นำสูงสุดยุทธจักรสีกากี ก็มี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข หรือบิ๊กปั๊ด เพื่อนรักร่วมรุ่นมาสานงานต่อกับตำแหน่ง ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 63 คดีน้องชมพู่ที่ผ่านมา 5 เดือน ยังคว้าน้ำเหลว ก็ได้รับการสานต่อจากปรมาจารย์ยอดนักสืบคนนี้ ที่ระดมทีมนักสืบพลิกแผ่นดิน ล่าหาหลักฐานลากคอคนทำผิด โดยหลังจากรับตำแหน่งเพียง 2 วัน คือวันที่ 3 ต.ค. 63 พล.ต.อ.สุวัฒน์ ก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวความคืบหน้าคดีทันควัน ประกาศกร้าว สอบพยานบุคคลทั้งสิ้น 384 ปาก สอบปากคำเข้าสำนวนสอบสวน 120 ปาก สอบผู้เชี่ยวชาญ 13 ปาก เก็บวัตถุพยาน 113 ชิ้น เป็นพยานหลักฐานที่เกิดเหตุ 16 ชิ้น เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ 154 ตัวอย่าง สำนวนการสอบสวนหนา 918 หน้า สรุปสำนวนชันสูตร ยืนยันว่า น้องชมพู่ไม่สามารถเดินขึ้นไปบนจุดพบศพด้วยตัวเอง


พร้อมสรุป 8 เหตุผลชัดเจนว่า 1.เส้นทางที่ยากลำบากเกินความสามารถ 2.พลังงานไม่เพียงพอ 3.ชาวบ้านให้การสอดคล้องว่า เด็กไม่สามารถเดินขึ้นเองได้ 4.มีการเทียบเคียงจากการหายตัวของชาวบ้านในหมู่บ้าน ชาวบ้านหาเจอได้ในคืนเดียว 5.แพทย์นิติเวช ได้เดินไปถึงจุดพบศพพบว่า เด็กไม่สามารถเดินขึ้นไปได้ กุมารแพทย์ให้ความเห็นว่า เดินห่างจากบ้าน 200 เมตร ยังเห็นบ้านได้ แต่ไม่สามารถเดินไปยังจุดพบศพได้ 6.สภาพศพเปลือยกาย ขณะที่บิดามารดายืนยันว่าน้องชมพู่ถอดเสื้อเองไม่ได้ 7.พบเส้นผม 36 เส้น ตกอยู่ข้างศพ โดยพบว่าเกิดจากการตัดการเฉือนด้วยมีด เด็กไม่สามารถตัดเองได้ และ 8.เด็กกลัวที่สูง กลัวป่า กลัวที่มืด ไม่เคยเล่นไกลบ้าน จึงเชื่อว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้พาน้องชมพู่ไปและทำให้น้องถึงแก่ความตาย โดยการสืบสวนสอบสวนของยุค พล.ต.อ.สุวัฒน์ มีการนำหลักนิติทางวิทยาศาสตร์มาคลี่คลายคดี มีการตรวจสอบด้วยอุปกรณ์พิเศษที่ล้ำสมัยที่สุด พร้อมลั่นวาจา ขอให้คนร้ายที่ฟังอยู่นอนเครียดต่อไป เพราะตำรวจยังไม่เลิกสืบสวน ไม่ว่าจะกินเวลานานเท่าไร ตำรวจไม่แขวนคดี ซึ่งการแถลงข่าวครั้งนั้นของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ที่สโมสรตำรวจ ทางลุงพล และป้าแต๋น ก็เดินทางมารับฟังด้วย

กระทั่งในเวลาต่อมา มีการนำตัวลุงพล เข้าเครื่องจับเท็จ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ ฝากไปถึงคนร้ายตัวจริงว่า ให้คิดถึงเรื่องบาปบุญ ท่านก็หนีได้ชั่วคราว หากเหนื่อยแล้วก็มานั่งจับเข่าคุยกันดีกว่าว่าเหตุเกิดจากอะไร ก่อนที่วันที่ 1 มิ.ย. 64 จากสำนวนและพยานหลักฐานของทางตำรวจ ศาลจังหวัดมุกดาหาร จึงอนุมัติหมายจับ ลุงพล ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันควร, ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกินเก้าปี เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย และกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป จากนั้นวันที่ 2 มิ.ย. ขณะตำรวจเปิดปฏิบัติการฟ้าสางกลางกกกอกบุกจับลุงพล แต่ลุงพลกลับไหวตัวทัน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ จะเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ตำรวจไม่สน อ่านหมายจับให้ลุงพล รับทราบ ก่อนจะสวมใส่กุญแจมือลุงพล แม้ลุงพลมีท่าทีฮึดฮัดพยายามขัดขืนเล็กน้อย แต่ไม่มีอะไรรุนแรง สุดท้ายก็ยอมให้ตำรวจควบคุมตัวแต่โดยดี

ที่สำคัญ ในยุค พล.ต.อ.สุวัฒน์ เมื่อส่งสำนวนคดีน้องชมพู่ ให้อัยการจังหวัดมุกดาหารแล้วนั้น ในวันที่ 7 ก.ย. 64 อัยการจังหวัดมุกดาหาร ได้มีความเห็นสั่ง ลุงพล 3 ข้อหา ประกอบด้วย 1.พรากผู้เยาว์ 2.ทำให้คนตายโดยเจตนา ปล่อยปละละเลยให้เด็กจนถึงแก่ความตาย และ 3.ดัดแปลงสภาพศพ ส่วนนางสมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น 1 ข้อหา คือดัดแปลงสภาพศพในคดีน้องชมพู่ ด้วย

ขันนอต-ขมวดหลักฐาน รับไม้ต่อสางคดี ยุค ‘บิ๊กเด่น’

คดีน้องชมพู่ ก้าวเข้าสู่ยุค ผบ.ตร. คนที่ 3 คือ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ หรือ บิ๊กเด่น เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 65 หลัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ เกษียณอายุราชการ ในยุคของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวได้ว่า คดีน้องชมพู่ ผ่านจุดเข้มข้นมาแล้ว เนื่องจากมีการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดมุกดาหาร กับลุงพล 3 ข้อหา ประกอบด้วย 1.พรากผู้เยาว์ 2.ทำให้คนตายโดยเจตนา ปล่อยปละละเลยให้เด็กจนถึงแก่ความตาย และ 3.ดัดแปลงสภาพศพ ส่วนนางสมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น 1 ข้อหา คือดัดแปลงสภาพศพในคดีน้องชมพู่ แต่ในยุคของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์นั้น ข่าวสารที่เกิดขึ้นของเซเลบบ้านกกกอก จะออกมาในทางการเปลี่ยนตัวทีมทนายความสู้คดี อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ครองตำแหน่ง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ได้รับไม้พร้อมสานงานต่อจากยุค พล.ต.อ.สุวัฒน์ พร้อมสั่งการให้ชุดคลี่คลายเตรียมหลักฐานให้พร้อม ในการใช้ต่อสู้คดีน้องชมพู่ อย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะไม้ตายเด็ด พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ สำหรับใช้เป็นหมัดน็อกผู้ถูกกล่าวหาให้จนต่อหลักฐาน

ยกเป็นโมเดลให้นักสืบรุ่นใหม่ ยุค ‘บิ๊กต่อ’

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 66 ภายหลัง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือบิ๊กต่อ ผงาดเป็น ผบ.ตร. คนที่ 14 คดีน้องชมพู่ ได้รับการตัดสิน โดย ศาลจังหวัดมุกดาหาร พิพากษา ลุงพล มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 20 ปี พร้อมชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ส่วน ป้าแต๋น ภรรยาลุงพล ให้ยกฟ้อง

ซึ่งภายหลัง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวถึงมาตรฐานการทำงานของตำรวจชุดคลี่คลายคดีน้องชมพู่ ชัดเจนว่าพอใจและขอชื่นชม คดีนี้ไม่มีพยานหลักฐานในอากาศ ไม่มีประจักษ์พยานใดๆ แต่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายสืบสวนได้พยายามสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด โดยเฉพาะหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์คือ เส้นผมของน้องชมพู่ที่ถูกตัด และพยานบุคคลที่ให้การมาตั้งแต่ต้น และไม่เคยกลับคำให้การเลย ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้สำนวนมีความแน่นหนาในระดับหนึ่ง จนทำให้ศาลเชื่อและมีคำพิพากษาดังกล่าวได้ ที่สำคัญจะต้องยกคดีนี้เป็นโมเดลในการปรับปรุงพัฒนางานสืบสวนในอนาคต ทั้งการวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์ของคนร้าย และการสืบสวนแบบดั้งเดิม (back to basic) ซึ่งได้กำชับกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลแล้วว่า ให้ฝึกนักสืบรุ่นใหม่ๆ ให้สามารถสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมด้วยวิธีแบบดั้งเดิม ยกระดับให้มีความเป็นสากลและมืออาชีพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่า คดีน้องชมพู่ การพิพากษาจากศาลชั้นต้น คงเป็นเพียงยกแรกของต้นทางกระบวนการยุติธรรม ยังต้องใช้เวลาต่อสู้ตามสิทธิ.