เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่หอประชุมเมืองไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภา เป็นประธานในงาน “เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์” พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติองค์กรเครือข่ายหนังสือพิมพ์ที่ทำประโยชน์ต่อองค์กรวิชาชีพและเพื่อการศึกษา มอบโล่ผู้สนับสนุนสมาคมฯ และแถลงข่าวการจัดประกวดรางวัล “พาดหัวข่าวสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ประจำปี 2567” ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 82 ปี ของสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ

โดยในปีนี้ทางคณะกรรมการได้ลงมติมอบรางวัลเชิดชูเกียรติองค์กรในเครือข่ายสื่อมวลชนที่ทำคุณประโยชน์ต่อองค์กรวิชาชีพและการศึกษาให้กับมูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล (เครือเดลินิวส์) โดย นายอภิชัย รุ่งเรืองกุล บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เดลินิวส์ เป็นตัวแทนในการรับ ร่วมกับอีก 4 มูลนิธิ คือ มูลนิธิไทยรัฐ มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ (เครือมติชน) มูลนิธิอิศรา อมันตกุล และมูลนิธิแสงชัยสุนทรวัฒน์ นอกจากนี้คณะกรรมการสมาคมฯ ได้ลงมติมอบรางวัล “เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์” ให้แก่ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส 2 คน ได้แก่ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่มีคุณูปการและเป็นแบบอย่างแก่วงการหนังสือพิมพ์

สำหรับมูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล นับตั้งแต่ก่อกำเนิดหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2507 ก็ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม และชาติบ้านเมืองมาโดยตลอด จนกระทั่ง นายแสง เหตระกูล ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2525 ได้มีผู้มีจิตศรัทธา เพื่อนสนิทมิตรสหาย ร่วมบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก นางไซ้กี เหตระกูล และลูกๆ จึงร่วมกันก่อตั้ง “มูลนิธิแสง เหตระกูล” ขึ้นเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของบิดาต่อไป เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2529 ต่อมา นางไซ้กี เหตระกูล คู่ชีวิตได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2543 บุตร-ธิดา จึงเพิ่มชื่อเป็น “มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล” เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน

มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล ได้ดำเนินกิจการสาธารณประโยชน์ต่อสังคมมาโดยตลอด พร้อมทั้งส่งเสริมวิชาการด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่สู่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไป จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์พายุเกย์ พัดถล่มจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ บุตรสาวของ นายแสง นางไซ้กี จึงชักชวน นายสวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์ สามี ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บริหารระดับสูงของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเป็นประธานรุ่นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 27 ซึ่งในรุ่นมีแพทย์ที่มีชื่อเสียงร่วมอยู่หลายท่าน จึงชักชวนกันจัดหน่วยแพทย์ออกไปช่วยตรวจรักษาชาวชุมพรทันที

และนับตั้งแต่วันนั้นจึงก่อให้เกิด หน่วยแพทย์ มูลนิธิแสง เหตระกูล นำโดย นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ ประธานมูลนิธิแสง-ไซ้กีฯ ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง ออกไปให้บริการชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกลอย่างต่อเนื่องมาตลอดติดต่อกันถึง 30 ปี จนกระทั่งเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด ประกอบกับแพทย์หลายท่านก็ชราภาพลงมาก หน่วยแพทย์คณะนี้จึงได้หยุดไป

นอกจากการจัดหน่วยแพทย์ออกตรวจรักษาชาวบ้านในทุกเดือนแล้ว ทุกครั้งที่เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในประเทศ มูลนิธิแสง-ไซ้กี เหตระกูล ยังได้จัดคาราวานนำถุงยังชีพออกไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วม วาตภัย ตลอดจนอากาศหนาวเย็นผิดปกติ นอกจากนั้นยังมี โครงการเดลินิวส์ส่งต่อของขวัญ และสร้างห้องสมุดโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน…