เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 28 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมราชทัณฑ์ โดยส่วนประชาสัมพันธ์ เผยแพร่เอกสารข่าวแจกสื่อมวลชน ระบุใจความว่า กรมราชทัณฑ์เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักในด้านการควบคุมและด้านการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง ให้มีความตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรี แห่งความเป็นมนุษย์ของตน เพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะ จากการพัฒนาพฤตินิสัยได้รับจากเรือนจำไปใช้ดำเนินชีวิตภายหลังพ้นโทษได้อย่างเป็นปกติสุข ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ โดยกรมราชทัณฑ์ ได้ให้ความสำคัญกับงานด้านทัณฑปฏิบัติ (Penological) เนื่องจากงานด้านทัณฑปฏิบัติ เป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแต่ละราย แต่ละประเภทผู้ต้องขังที่แตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่กระบวนการรับตัวผู้ต้องขังไว้ในเรือนจำ ด้วยระบบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง การแยกคุมขังผู้ต้องขังแต่ละประเภท และการให้ประโยชน์แก่ผู้ต้องขังด้านต่างๆ เช่น การเลื่อนชั้น การพักการลงโทษ การลดวันต้องโทษ เป็นต้น กระทั่งถึงกระบวนการก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง       

กรมราชทัณฑ์ ระบุอีกว่า โดยหลักการบริหารโทษรายบุคคล ด้านทัณฑปฏิบัติที่สำคัญมี 5 ประเภท โดยจุดเริ่มต้นของการบริหารโทษที่สำคัญ ได้แก่ ด้านที่ 1 การจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง (Prisoner Classification) เป็นการศึกษาวิเคราะห์ถึงประวัติ ภูมิหลัง บุคลิกลักษณะ สภาพทั่วไปของผู้ต้องขัง รวมทั้งประวัติการกระทำผิด และสาเหตุแห่งการกระทำผิด เพื่อที่จะสามารถกำหนดแผนปฏิบัติด้านการควบคุมเพื่อกำหนดระดับความความเสี่ยงในการควบคุม แผนปฏิบัติด้านการพัฒนาพฤตินิสัยให้แก่ผู้ต้องขังได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามความต้องการของผู้ต้องขังแต่ละคน และเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารโทษในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำและทัณฑสถาน เมื่อจำแนกลักษณะผู้ต้องขังเพื่อกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นรายบุคคลแล้ว และนำผู้ต้องขังไปรับการปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ในเรือนจำอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะนำไปสู่การการบริหารโทษ

ด้านที่ 2 การเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาด (Prisoner Promotion) ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยในการปกครองและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจัดชั้นนักโทษเด็ดขาดเป็น 6 ชั้น ตั้งแต่ชั้นสูงสุดจนถึงชั้นต่ำสุด ได้แก่ ชั้นเยี่ยม ดีมาก ดี กลาง ต้องปรับปรุง และต้องปรับปรุงมาก ลดหลั่นตามลำดับชั้น กล่าวคือ ถ้านักโทษเด็ดขาดประพฤติตนดีจะได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นสูงขึ้น และอาจได้รับประโยชน์ในเรือนจำ

เมื่อมีคุณสมบัติและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ เช่น การพักการลงโทษ การลดวันต้องโทษ การแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยงาน-ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำ การจ่ายนักโทษเด็ดขาดออกทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เป็นต้น ในทางกลับกันหากนักโทษเด็ดขาดคนใดประพฤติตนในเรือนจำไม่เหมาะสมหรือผิดระเบียบวินัยในเรือนจำจะต้องถูกปรับลดชั้นลง และถูกลงโทษ

ด้านที่ 3 การลดวันต้องโทษจำคุก (Good-Time Allowance) คือ การลดวันจำคุกเพื่อตอบแทนความประพฤติดีของนักโทษเด็ดขาดที่ถูกคุมขังให้ได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ ถ้าทำผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ จะถูกสั่งเพิกถอนการลดวันต้องโทษ และถูกจับกลับมาคุมขังในเรือนจำตามกำหนดโทษที่เหลืออยู่ตามเดิม จึงถือเป็นการบริหารโทษในการให้โอกาสผู้ต้องขังได้กลับคืนสู่สังคมก่อนครบกำหนดโทษจำคุกตามคำพิพากษา ซึ่งการลดวันต้องโทษจำคุก ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่นักโทษเด็ดขาดตามมาตรา 52 (5) แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กรณีที่นักโทษเด็ดขาดคนใดแสดงให้เห็นว่า มีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา และทำงานเกิดผลดีหรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ อาจได้รับประโยชน์ในการลดวันต้องโทษจำคุก

ด้านที่ 4 การพักการลงโทษ (Parole) เป็นการบริหารโทษประเภทหนึ่งในการให้โอกาสผู้ต้องขังได้กลับคืนสู่สังคมก่อนครบกำหนดโทษจำคุกตามคำพิพากษา ซึ่งการพักการลงโทษ ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่นักโทษเด็ดขาดตามมาตรา 52 (7) แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กรณีที่นักโทษเด็ดขาดคนใดแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา และทำงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษอาจได้รับประโยชน์ในการพักการลงโทษ “การพักการลงโทษ” จึงเป็นมาตรการที่กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อนักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดี ผ่านการอบรมพัฒนาพฤตินิสัยให้ได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและชุมชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ โดยจะต้องติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM.) จนกว่าจะพ้นโทษ หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข อาจถูกเพิกถอนพักการลงโทษและถูกจับกุมตัวเข้ามาคุมขังในเรือนจำอีกครั้งตามกำหนดโทษที่เหลืออยู่ก่อนได้รับพักการลงโทษ

ด้านที่ 5 การขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย (Individual Royal Pardon) คือ การยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 ถึง มาตรา 267 การขอรับพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย จะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ โดยผู้มีสิทธิยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ได้แก่ นักโทษเด็ดขาดหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ดังนี้ นักโทษเด็ดขาด บิดา มารดา คู่สมรส บุตร สถานทูต (กรณีนักโทษชาวต่างชาติ) ดังนั้น การบริหารโทษผู้ต้องขังรายบุคคล จึงมีความเกี่ยวข้องและดำเนินการร่วมกับระบบงานทัณฑปฏิบัติ โดยเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังตั้งแต่กระบวนการรับตัวผู้ต้องขัง กระบวนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ และกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ โดยใช้เรือนจำเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการควบคุม และการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ชุมชนและสังคม.