การออม…คือแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ เก็บเงินไว้ใช้ในห้วงเวลา ช่วงชีวิตที่จำเป็นดังนั้น เราต้องมีการวางแผนทางการเงิน ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามีคนพูดถึงกันมากเรื่องวางแผนทางการเงินแต่หลายคนก็คิดว่าพูดง่ายแต่ทำยาก แม้อาจจะเคยลองแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่รู้ว่าเราควรเก็บออมอย่างไร วิธีไหน และต้องเริ่มต้นจากตรงไหนจึงจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

การเก็บออมเงินหรือการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งตอบแทนเช่น ผลกำไร ผลดอกเบี้ย แต่ความจริงวัตถุประสงค์ของการออมเงินคือ ให้มีวินัยในการบริหารจัดการเงินของตนเองไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นต้องการใช้เงิน ซึ่งบางคนก็อยากออมเงินเพื่อหวังยกระดับฐานะให้ร่ำรวยมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น

เริ่มต้นออมเงิน

เริ่มต้นการเก็บเงินง่าย ๆ สิ่งแรก คือ ต้องแบ่งสัดส่วนเงินให้ชัดเจน จะช่วยให้บริหารเงินได้ง่ายมากขึ้น เพราะจะรู้ว่าเงินที่ได้รับมานำไปใช้จ่ายอะไรบ้างและเหลือเก็บเท่าไร ตามสัดส่วนสูตรนิยม คือ ค่าใช้จ่ายประจำวัน 50%, ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 30% และอีก 20% เป็นเงินเก็บออม ตัวอย่างเช่น ถ้าเงินเดือน 20,000 บาทแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก 50% คือ 10,000 บาท ส่วนที่สอง 30% คือ 6,000 บาท และส่วนสุดท้าย 20% คือ 4,000 บาท

อย่างที่สองต้องศึกษาการลงทุน เมื่อเรามีเงินออมแล้วอาจแบ่งเงินมาลงทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อยอดได้อีก เริ่มต้นด้วยลงทุนกับกองทุนรวมมองหากองทุนรวมที่ความเสี่ยงต่ำ และพ่วงลดหย่อนภาษีไปด้วยก็ดี เช่นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (เอสเอสเอฟ), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) หรือจะเป็นน้องใหม่กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ทีอีเอสจี) เมื่อรับความเสี่ยงมากขึ้นอาจขยับลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้อื่น ๆ

ที่กล่าวไปเบื้องต้น อาจทำให้รวยได้ช้าหน่อยหากเรายังไม่รู้จักบริหารจัดการเงินที่ดี และอีกข้อหนึ่ง ที่จะทำให้ใกล้จุดหมายยิ่งขึ้น คือ “การใช้เงินให้เป็น” และ “จัดการกับความโลภที่อยู่ในตัวเราให้ได้” ต้องรู้จักควบคุมรายจ่าย เช่น ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายเราจ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง อะไรควรซื้ออะไรไม่ควรซื้อ สิ่งที่ซื้อนั้นมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตหรือไม่ ต้องตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่ามีความจำเป็น หรือ แค่ต้องการ กันแน่!!!

แบ่งตามระยะ

อีกหนึ่งวิธีที่สำคัญ…คือ ท่องคาถา “รวย รวย รวย!!” และให้ไปถึงจุดนั้นมีแนวทางปฎิบัติไม่ยาก ดังนี้ ตั้งเป้าหมายการออมเงินด้วย  3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว จากสิ่งที่เป็นเงินเก็บเงินออมสัดส่วน 20% อาจเพิ่มเป็น 25-30% เพื่อแบ่งเก็บเงินเป็น 3 ช่วง เริ่มต้นจากเก็บเงินระยะสั้นเพื่อใช้ยามฉุกเฉินและจำเป็น อาจเก็บไว้ใช้ระยะสั้นเช่น 1 ปี เอาไว้จ่ายค่าเทอมลูกหลาน เก็บเงินซื้อของที่อยากได้ เก็บเงินเพื่อท่องเที่ยว หรือเก็บเงินไว้เผื่อว่าเจ็บป่วย และต้องการเงินสดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในส่วนนี้อาจเลือกฝากเงินกับเงินฝากประจำตั้งแต่ 3-12 เดือน ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์

ต่อมาในระยะที่ 2 ระยะกลาง เก็บเงินเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ ขยับออกเป็นภายใน 3 ปี เช่น เอาไว้ดาวน์บ้าน ดาวน์รถ แต่งงานซึ่งรูปแบบการออมเงินในระยะนี้อาจเลือกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้อาจจะฝากประจำที่นานขึ้น เลือกลงทุนในกองทุน ส่วนระยะที่ 3 เก็บเงินระยะยาวเพื่อใช้ยามเกษียณ เป็นการเก็บเงินเพื่อความมั่งคงในชีวิต ถ้าใครเริ่มวางแผนออมเงินเพื่อเกษียณได้เร็วกว่าก็อาจรวยได้เร็วกว่าเช่นกันซึ่งส่วนนี้ต้องนำไปใช้ยามแก่ต้องเลือกลงทุนระยะยาว เช่น กองทุนรวมอาร์เอ็มเอฟกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือจะเป็นประกันชีวิตแบบมีบำนาญ เป็นต้น

เปิดคัมภีร์รวย

ไม่หมดเพียงเท่านี้! ยังมีอีกหลายเทคนิคออมเงินที่ทำให้ทุกคนรวยไปพร้อมกันได้โดยพามาเปิดคัมภีร์ออมเงินอย่างไรให้รวย ด้วย 10 วิธีที่หลายคนเลือกใช้ คือ 1.กันเงินเดือน 10% เก็บไว้ก่อนใช้จ่าย โดยแบ่งเงินออมไว้ 10% จากเงินเดือน เช่น เงินเดือน 20,000 บาทให้แบ่งออมไว้ก่อนเลย 2,000 บาท เมื่อครบ 1 ปีเท่ากับว่าจะออมเงินได้ถึง 24,000 บาท

2.เก็บเงินตามลำดับวันใน 1 ปี โดยวิธีคือเก็บเงินโดยไล่ตามลำดับวันใน 1 ปีไปเรื่อย ๆ เช่นวันที่ 19 เก็บ 19 บาท วันที่ 350 เก็บ 350 บาท หากเก็บได้ครบทุกวันจะมีเงินเก็บถึง 66,795บาทเลยทีเดียว วิธีที่ 3.เก็บเงินใส่กระปุกที่เปิดยาก ลองมองหากระปุกที่เปิดยาก ๆ มีขนาดใหญ่เพื่อหยอดทั้งเหรียญและธนบัตรได้ทั้งปีแต่วิธีนี้ต้องมีวินัยในการหยอดกระปุกเสียหน่อย!!

4.เก็บเงินจากส่วนต่างของส่วนลด ซื้อสินค้าลดราคา เช่น ราคาเต็ม 399 บาท ลดเหลือ 259 บาท จะเหลือเก็บออม 140 บาท 5.เก็บเงินจากธนบัตรใบละ 50 บาท ให้ครบ 1 ปี แนะนำว่าให้เก็บสะสมไว้จนครบปีแล้วค่อยนับวิธีนี้ยอดฮิตเลยทีเดียว!! 6.เก็บเงินตามตารางออมเงิน โดยวางเป้าหมายไว้ เช่น อยากเก็บเงินให้ได้ 2,000 บาท ภายใน 60 วัน ก็จัดทำตารางและกำหนดภายใน 60 วันว่าต้องเก็บเงินวันละเท่าไรถึงจะได้ 2,000 บาท

7.เก็บเงินแบบตั้งเงื่อนไข เช่น น้ำหนักขึ้น 1 กิโกกรัม ก็เก็บเงิน 1,000 บาท แต่หลายคนอาจไม่เลือกวิธีนี้ เพราะแค่ 1 เดือนคุณอาจได้เงินเก็บหลายพันบาท หรืออาจไม่เหลือเงินเลยก็ได้นะ 8.เก็บเงินตามเลขท้ายสามตัว เหมาะกับใครที่ชอบลุ้นรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลหากเก็บเงินจากเลขท้ายสามตัว เช่น 999 ก็จะต้องเก็บเงิน 999 บาท แต่ใครเลือกซื้อเลขท้ายสามตัว 001 ก็จะเก็บแค่ 1 บาท น้อยซะเหลือเกิน

9.แข่งเก็บเงินกับคนในครอบครัว เป็นอีกวิธีที่น่าสนุกมีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวแถมได้เก็บออมเงินกันด้วยและสุดท้าย 10.เก็บเงินด้วยการเปิดบัญชีฝากประจำ ทุกวันนี้แต่ละธนาคารมีแคมเปญเงินฝากประจำจูงใจค่อนข้างมากเลือกสรรได้ตรงตามความต้องการ มีทั้งแบบให้ดอกเบี้ยสูงแต่ต้องเสียภาษี และแบบมีดอกเบี้ยแต่ปลอดภาษีรับดอกเบี้ยไปเลยเต็ม ๆ

การวางแผนทางการเงินเลือกเก็บออมเงินด้วยวิธีต่าง ๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการมีวินัยทางการเงิน ไม่ว่าจะด้วยวิธีรูปแบบใดแม้จะเริ่มเก็บออมเงินวันละเล็กน้อย ก็ถือเป็นหนทางที่จะทำให้เราไปสู่จุดมุ่งหมายไปสู่ความร่ำรวยมั่งคั่ง เพราะจะสามารถทำให้เราต่อยอดวางแผนการเงินในรูปแบบอื่นได้ที่สำคัญคือ “จัดการกับความโลภ เก็บเงินให้ได้ใช้เงินให้เป็น” จะเป็นทางไปสู่การค้นพบว่าเก็บออมเงินอย่างไรให้รวย!!!.