กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถกเถียงเป็นอย่างมากในโซเชียล เมื่อมีผู้หญิงท้องแก่รายหนึ่งออกมาโพสต์ เล่าถึงสวัสดิการของคนท้องในรถไฟ BTS ที่มีอยู่แต่ไม่เคยได้ใช้สักครั้ง

โดยระบุว่า “ขอบคุณที่นั่งสำหรับ คนพิการ พระสงฆ์ และ คนท้อง (ที่ไม่ได้นั่งเลย ยืนตลอดสาย) ตั้งแต่ BTS แบริ่ง-อโศก และเป็นวันที่ 3/01/67 เป็นวันที่คนเริ่มกลับมาทำงาน และบน BTS ผู้คนแน่นมาก ๆ แต่สำหรับคนท้องที่มีที่นั่งพิเศษ แต่กลับไม่ได้นั่ง ส่วนคนที่แข็งแรง และเป็นผู้ชาย แหงนหน้ามามองหลายรอบมาก แต่กลับนิ่งเฉย (ฉันยืนเหงื่อแตก ตาลาย ไหนมือหนึ่งจะเกาะเสา ไหนอีกมือจะควานหายาดมในกระเป๋า (แทบล้มตอนขบวนออกตัว)”

“แต่เขาก็ยังนั่งมองฉันเฉย ๆ แบบไม่มีจิตสำนึกอะไรเลย ผู้คนในบีทีเอสต่างมองเขากัน แต่เขาก็ยังทำตัวนิ่งเฉย เริ่มไม่เข้าใจแล้ว ว่าที่นั่งสำหรับ คนท้อง คนพิการ พระสงฆ์ ติดป้ายยังไม่ชัดเจนใช่ไหม? หรือเข็มกลัดที่ท้องเรา มันเห็นไม่ชัดใช่ไหม (ทั้ง ๆ ที่มันอยู่ตรงหน้าคุณแท้ ๆ) #BTS #ที่นั่งคนพิการ #ที่นั่งพระสงฆ์ #ที่นั่งคนท้อง”

อย่างไรก็ตาม เมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นไวรัลมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่น โดยความเห็นส่วนใหญ่มองว่าการลุกให้คนท้องหรือผู้พิการนั่ง ในเก้าอี้ที่จัดเตรียมไว้ให้เป็นที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ เป็นเรื่องของการเสียสละและความมีน้ำใจ และอยู่ที่จิตสำนึกที่ควรตระหนักรู้ได้ด้วยตนเองมากกว่า

ทั้งนี้ความเห็นบางส่วนมองต่างว่า ผู้โดยสารที่นั่งเก้าอี้ดังกล่าวไม่ผิด เพราะไม่ได้มีกฎระเบียบข้อบังคับ เพียงแค่ขอความร่วมมือ

โดยก่อนหน้านี้ทางรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) เคยชี้แจงถึงไว้ว่า “ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ​ (Priority seat) คือ ที่นั่งสำรองให้แก่ เด็ก, สตรีมีครรภ์, คนพิการ, ผู้ป่วย, พระภิกษุสงฆ์ และผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ทางบีทีเอสได้ออกแบบสัญลักษณ์​ที่นั่งสำรอง เพื่อให้เห็นเด่นชัด สังเกตได้ง่าย พร้อมที่จะเอื้อเฟื้อ​ที่นั่งสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ที่นั่งพิเศษนี้”

“ที่นั่งสำรองนี้​ผู้โดยสาร ทุกคนสามารถนั่งได้ แต่ต้องพร้อมที่จะเสียสละ เมื่อมีบุคคลพิเศษ​ที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ร่วมสร้างสังคมมีน้ำใจในการเดินทาง มีน้ำใจให้แก่กัน​ ทำให้การเดินทางในแต่ละวันมีแต่รอยยิ้ม”….

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Ttpron Som