นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคม ซึ่งขณะนี้ จ.เชียงใหม่ มีแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญดังนี้ 1.การพัฒนาทางถนน ประกอบด้วย ถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 1 (ทางหลวงหมายเลข 11 และทางหลวงหมายเลข 1141) ระยะทางรวม 18.238 กิโลเมตร(กม.), ถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทางหลวงหมายเลข 121 ระยะทางรวม 52.957 กม., แผนพัฒนาทางแยกระดับถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3,

การพัฒนาถนนเลี่ยงเมืองแม่ริม อ.แม่ริม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ระยะทาง 45 กม. ปัจจุบันสำรวจออกแบบแล้วเสร็จ และการพัฒนาถนนเลี่ยงเมืองต้นเปา (ชม.3029 – ทล.1006) ระยะทาง 16.50 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างของบประมาณจ่ายค่าเวนคืน 2.แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ (CM-PMAP) โดยมีระบบหลัก(Trunk Route, LRT) ประกอบด้วย สายสีแดง ระยะทาง 12.54 กม. 12  สถานี สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 10.47 กม. 13 สถานี สายสีเขียว ระยะทาง 11.92 กม. 10  สถานี และระบบ Feeder (รถประจำทาง) ประกอบด้วย ระบบรอง 7 เส้นทาง ระยะทาง 89 กม. ระบบเสริม 7  เส้นทาง ระยะทาง 85 กม.

3.โครงการรถไฟฟ้า (Light Rail Transit : LRT)  สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการที่เหมาะสม และพิจารณาผลการศึกษาเปรียบเทียบร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และ 4.โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) สายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ระยะ(เฟส) ที่ 1 กรุงเทพฯ – พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. ปัจจุบันฝ่ายญี่ปุ่นศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงินของโครงการแล้วเสร็จ และผลการศึกษา R-Map บรรจุเส้นทางอยู่ในแผนงานระยะกลาง(พ.ศ.2571 – 2575) ส่วนเฟสที่ 2 ช่วง พิษณุโลก – เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม. ปัจจุบันผลการศึกษา R-Map บรรจุเส้นทางอยู่ในแผนงานระยะยาว (พ.ศ.2576-2585)

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้กรมทางหลวง(ทล.) พิจารณาขออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในภาพรวมสำหรับดำเนินโครงการเพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น หรือจัดลำดับความสำคัญแผนงาน และจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในระยะเร่งด่วน (ระยะ 3 ปี) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายทางถนนให้ต่อเนื่อง เพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด(บวท.) หาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่สโมสรวิทยุการบินเชียงใหม่ เช่น การใช้เป็นพื้นที่เช็กอิน โหลดสัมภาระ หรือพื้นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสาร โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

นอกจากนี้มอบให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กำหนดเส้นทางรถโดยสารสาธารณะ (รถสี่ล้อแดง) สำหรับบริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ให้เหมาะสมตอบโจทย์การเดินทางผู้โดยสารที่ใช้บริการ สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อลดปัญหามลพิษและฝุ่น PM 2.5 มอบให้ ขบ. พิจารณากำหนดมาตรฐานการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ของรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งหาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม และปลอดภัย.