…นี่เป็นการระบุของ ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” หรือ “ธ.ก.ส.” ถึงการสนับสนุนอาชีพเกษตร รวมถึงสนับสนุนวิถีการเกษตรกร สู่…

การ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร”…

เพื่อ “เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร”

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ทาง “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” หรือ “ธ.ก.ส.” นำโดย ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ จ.อุดรธานี ที่ ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ตัวอย่างชุมชนที่เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ของ ธ.ก.ส. ที่พัฒนาชุมชนเป็นแหล่ง “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” หรือ Agro-Tourism” และอีกที่คือ สวนแบงค์เบญจมาศ ที่มีการปลูกดอกไม้เพื่อการท่องเที่ยว

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ที่ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก

“ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการ ภายใต้หลัก BCG Model เพื่อช่วยฟื้นฟูอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว และเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยว มาอย่างต่อเนื่อง” …ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว พร้อมทั้งระบุต่อไปว่า… ทาง ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ในการสนับสนุนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ การวางแผนทั้งด้านการผลิต การตลาด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูป การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมเน้นรูปแบบการดีไซน์ การทำแพ็กเกจจิ้ง

นอกจากนี้ ยังได้นำฐานข้อมูลที่มีในชุมชนมาค้นหาจุดเด่นในการพัฒนาและต่อยอด รวมถึงวางแนวทางการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความสามารถในการผลิตและความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค นำไปสู่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และสนับสนุนการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่ทำให้คนเมืองได้มีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติ สัมผัสวิถีชีวิตคนในชนบท…

“ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร”

เยี่ยมชมการทอผ้าโบราณ

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุอีกว่า… เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. มีครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยในจำนวนลูกค้าที่เยอะนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของภาคการผลิตทางการเกษตร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกยกขึ้นมาคือ ความสวยงามของพื้นที่ โดยหลายพื้นที่มีความสวยงาม ทาง ธ.ก.ส. จึงได้ให้แต่ละสำนักงานจังหวัดของ ธ.ก.ส. สำรวจลูกค้าเกษตรกรที่มีคุณภาพในการที่จะ พัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และตอนนี้อีกส่วนหนึ่งที่ ธ.ก.ส. ก็กำลังส่งเสริมคือ จัดเส้นทางท่องเที่ยวจากในเมือง ที่คนมีกำลังซื้อสูง ให้เดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร พื้นที่ที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เพื่อดึงรายได้จากในเมืองสู่ลูกค้าเกษตรกรโดยตรง ดึงคนเมืองเข้าหาเกษตรกร อยู่กับเกษตรกรจริง ๆ ให้เกิดการหมุนเวียนทางการใช้จ่ายในพื้นที่

อย่างที่ “ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก” จ.อุดรธานี เป็นตัวอย่าง ชุมชนที่เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ของ ธ.ก.ส. ที่มีการพัฒนาชุมชนสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จากเดิมคนในชุมชนประกอบอาชีพทำนาอย่างเดียว ต่อมาได้รวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก มีการย้อมสีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยนำกลีบบัวแดง สายบัวแดง ดอกบัวแดง เกสรบัวแดง มาใช้ย้อมสี โดยไม่ต้องใช้สารเคมี และมีการอนุรักษ์การทอผ้าแบบดั้งเดิม พร้อมประยุกต์เป็นลวดลายผ้าได้หลากหลาย ซึ่งทางกลุ่มทอผ้าฯ ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าศึกษาดูงานได้ตลอดทั้งปี

คณะ ธ.ก.ส. มอบของที่ระลึก

ส่วนที่ “สวนแบงค์เบญจมาศ” เป็นสวนดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ที่ปลูกสลับผลัดเปลี่ยนตามฤดูกาล เช่น ดอกเบญจมาศ ดอกทานตะวัน ดอกคัตเตอร์ เป็นต้น มีการ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบน้ำในสวนดอกไม้ และเปิดคาเฟ่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวชมดอกไม้ …โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนเงินทุนให้กับลูกค้าทั้ง 2 ราย

“ธ.ก.ส. สนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อใช้พัฒนาธุรกิจให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถผลิตสินค้าได้มีคุณภาพ ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง และ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ให้สามารถก้าวข้ามกับดักหนี้ และฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” …ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ที่สวนแบงค์เบญจมาศ

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังระบุด้วยว่า… “เราพร้อมสนับสนุนชุมชนที่มีศักยภาพในเชิงการท่องเที่ยว ให้สามารถมีเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ ปรับภูมิทัศน์ ในการที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เกษตรกรสามารถเดินไปได้ไกลมากขึ้น นอกจากนี้ยังพร้อมสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสินเชื่อที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นต้น เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ ๆ…

ต่อยอดธุรกิจในภาคการเกษตร

และสามารถจะสร้างรายได้ที่ดี

ไม่ต่างจากการทำงานในเมือง”.