เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ยื่นฟ้อง นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นายอรรถพล บัวพัฒน์ จำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ, ร่วมกันชุมนุมใดๆ โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะ ตลอดจนผู้ชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะฯ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน ,ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน,ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์

จากการชุมนุม 18 พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 โดยในวันนี้จำเลยทุกคนเดินทางมาศาลมีการเบิกตัวนายอานนท์ จำเลยที่ 1 จากเรือนจำ

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงนั้น จำเลยที่ 1, 2 เคยถูกพนักงานอัยการ ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวันและศาลมีคำพิพากษาแล้ว เหตุการณ์เป็นช่วงวันเวลาเดียวกัน มีเจตนาต่อเนื่องไม่ขาดตอน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ในส่วนจำเลยที่ 3, 4 ในข้อหาร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมผู้กระทำจะต้องประสงค์ ให้มีการจัดการชุมนุมแต่พยานโจทก์ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 3, 4 เป็นคนเชิญชวนก่อให้เกิดการชุมนุมรู้แต่เพียงว่า เพจเยาวชนปลดแอกเป็นผู้โพสต์เชิญชวนและฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่สามที่สี่เกี่ยวข้องกับเพจโดนชนกดแอดการที่จำเลยที่ 3, 4 ปราศรัยร่วมในฐานะผู้ชุมนุมพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่า เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมซึ่งจะต้องเป็นผู้ขออนุญาตจัดการชุมนุม จึงไม่มีความผิดตามข้อหานี้และไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ เรื่องโรคติดต่อตามข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในส่วนข้อหา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแล และรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะตลอดจนผู้ชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่,ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด

เนื่องจากเห็นว่าจำเลยไม่ใช่เป็นผู้สั่งการให้มีการทำร้ายเจ้าพนักงาน แม้มีการปราศรัยให้มีการปาสีแต่ก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงให้เกิดความเสียหายแก่กล้องวงจรปิด อีกทั้งยังได้ความว่าจำเลยขอให้ยุติการกระทำซึ่งการปาสีดังกล่าวใช้เวลาเพียง 20 นาที และได้ความจากพยานเบิกความสอดคล้องกันว่าการชุมนุมดังกล่าวมีผู้ชุมนุมมากกว่า 10,000 คน ตำรวจเลยต้องปิดเส้นทางการจราจรเพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยการกีดขวางทางสาธารณะ จึงไม่ใช่ผลโดยตรงและข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 4 เกี่ยวข้องในการมีคำสั่งให้ปิดการจราจรฯ โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ขูดเขียน พ่นสี ในส่วนข้อหาอื่นๆ พยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้

แต่ในส่วนความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ที่จำเลยอ้างว่าที่มีการปาสีใส่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพราะมีการฉีดน้ำสลายการชุมนุมเมื่อ 1 วันก่อน จึงมาชุมนุมปาสีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ศาลเห็นว่าที่จำเลยว่าเป็นการโต้ตอบการกระทำนั้นเป็นเจตนาที่ขาดตอนย่อมถือว่าเป็นเจตนาของจำเลยเอง การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นกระทำผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสาม ซึ่งเป็นการมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวาย

สั่งจำคุกจำเลยที่ 1, 2 และ 4 คนละ 1 เดือนปรับ 20,000 บาท ในส่วนของจำเลยที่ 4 ซึ่งเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนให้บวกโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 1 เดือนเศษและปรับ 26,000 บาท แต่เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะบุกเข้าไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการชุมนุมสาธารณะปราศจากอาวุธ มีการปาสีเพียง 20 นาที ก็ยุติการชุมนุม เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ จึงให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1, 2 และ 4  ในส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่อาจรอการลงโทษได้จึงให้ยกโทษจำคุก