เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 ม.ค. ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง พร้อมด้วย น.ส.วิ (นามสมมุติ) อายุ 45 ปี หลานสาวของนายปัญญา คงแสนคำ อายุ 56 ปี หรือลุงเปี๊ยก สามีของ น.ส.บัวผัน ตันสุ หรือป้าบัวผัน เข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่สอบปากคำลุงเปี๊ยกว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่ โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกดีเอสไอ เป็นตัวแทนรับเรื่อง

โดยกัน จอมพลัง เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ได้แก่ ดาบตำรวจภิเศก พวงมาลีประดับ ผบ.หมู่ (สส.) สภ.อรัญประเทศ และ พ.ต.ท.พิชิต วัฒโน รอง ผกก.สส.สภ.อรัญประเทศ ถูกตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นการสอบปากคำลุงเปี๊ยก ว่า เข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่นั้น เท่าที่ตนได้รับฟังผลการแถลงข่าวของคณะกรรมการฯ พบว่าทั้งคู่มีความผิดตามมาตรา 157 แต่ในส่วนของการสอบปากคำจะเข้าข่ายทรมานหรือไม่ ก็ต้องรอดูในรายละเอียดข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งตนก็มีข้อสงสัยเช่นเดียวกันว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ วันนี้จึงเดินทางมาที่ดีเอสไอ และพาหลานของลุงเปี๊ยกมาร่วมให้ข้อมูล เพราะตนและหลาย ๆ คนก็ต่างรู้สึกเหมือนกันว่าในกรณีนี้คล้ายเป็นการช่วยเหลือกันเองของตำรวจหรือไม่ เพราะตอนนี้มีเพียงความผิดตามมาตรา 157 ตนจึงอยากทราบมุมมองของดีเอสไอว่าในพฤติกรรมของตำรวจที่เกิดขึ้น ดีเอสไอในฐานะหน่วยงานที่ดูกฎหมายฉบับนี้ด้วย มีมุมมองอย่างไร เพราะมีประเด็นการใช้ถุงดำคลุมศีรษะ และให้ลุงเปี๊ยกนั่งถอดเสื้อตากแอร์ในห้องสอบสวน

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกดีเอสไอ ระบุว่า เบื้องต้นดีเอสไอจะรับเรื่องไว้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ดำเนินการโดยกองกิจการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งเรื่องสืบสวนข้อมูลและค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุต่างๆ ส่วนกรณีพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จะเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่ ต้องดูองค์ประกอบของข้อกฎหมายหลายประการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง อาทิ การถูกจำกัดเสรีภาพ การกระทำบางอย่างจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องรับสารภาพ หรือการกระทำอันตรายทั้งร่างกายและจิตใจ และข้อเท็จจริงอื่นมาประกอบ ส่วนการคุ้มครองพยานอยู่ระหว่างพิจารณา แต่จะเร่งรัดโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มี 4 หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ ฝ่ายปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ และตนยังไม่ตั้งธงว่าใครมีความผิดอะไรอย่างไร ขอตรวจสอบรายละเอียดให้รอบด้านก่อน.