สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ว่า จีนกำลังเผชิญกับการวิจารณ์ในยูพีอาร์ ซึ่งเป็นการประเมินบันทึกด้านสิทธิมนุษยชน และการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกยูเอ็นทั้ง 193 ประเทศ ในทุก ๆ 4-5 ปี

คณะผู้แทนจีนหลายคนเข้าร่วมการตรวจสอบ และยืนกรานว่า ประเทศของพวกเขามีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการปรับปรุงชีวิตของประชาชน ยุติความยากจน และคุ้มครองสิทธิ รวมถึงตำหนิผู้วิจารณ์ที่ทำให้ประเด็นสิทธิกลายเป็นการเมือง และนำมันมาใช้เป็นอาวุธ เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของจีน

CNA

อย่างไรก็ตาม บรรดานักการทูตจากประเทศชาติตะวันตก ต่างเน้นย้ำถึงการปราบปรามเสรีภาพของพลเมือง และบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อปี 2563 เพื่อจัดการกับผู้เห็นต่าง ภายหลังการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

นอกจากนี้ หลายคนยังแสดงความตื่นตระหนกต่อความพยายามลบล้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาในเขตปกครองตนเองทิเบต ตลอดจนการปราบปรามในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งถูกกล่าวหาว่า คุมขังชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่น ๆ มากกว่า 1 ล้านคน

แม้นักการทูตจำนวนมากเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามคำแนะนำของรายงาน แต่คณะผู้แทนจีนโต้แย้งว่า สิ่งที่เรียกว่าค่ายกักกัน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามที่กล่าวหานั้น เป็นเพียงเรื่องที่ปั้นแต่งขึ้นมาอย่างแท้จริง

อีกด้านหนึ่ง นายอิเลีย บาร์มิน เลขานุการเอกของคณะผู้แทนรัสเซีย ยกย่อง “ความคืบหน้าที่น่าประทับใจ” ของรัฐบาลปักกิ่ง ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิผล

ขณะที่นายอาลี บาห์เรนี เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำยูเอ็น กล่าวเสริมว่า รัฐบาลปักกิ่งควรดำเนินการ ปกป้องสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป.

เครดิตภาพ : AFP