ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเพิ่งเผยแพร่รายงานของแมงกะพรุนสายพันธ์ุใหม่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นเตะตาอย่างมาก

แมงกะพรุนดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่าแมงกะพรุน “ไม้กางเขนของเซนต์จอร์จ” (St. George’s Cross Medusa) ตามชื่อไม้กางเขนที่ปรากฏบนธงชาติของอังกฤษ เนื่องจากลักษณะที่โดดเด่นตรงส่วนท้องที่มีรูปร่างคล้ายไม้กางเขนหรือกากบาทสีแดงสด โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Santjordia pageso (S. Pagesi)

เมื่อเทียบกับแมงกะพรุนสายพันธุ์อื่น ๆ แล้ว แมงกะพรุนสายพันธุ์ใหม่นี้มีขนาดเล็กกว่า มีความกว้างของลำตัวโดยเฉลี่ยที่ 4 นิ้ว ความยาวโดยเฉลี่ย 3 นิ้ว และมีหนวด 240 เส้น ส่วนท้องสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมัน จะเห็นได้ชัดว่าเป็นรูปกากบาท เมื่อมองจากด้านบน

ที่จริงแล้วมีผู้เก็บตัวอย่างของแมงกะพรุนชนิดนี้ได้ตั้งแต่ปี 2545 โดยอุปกรณ์ควบคุมระยะไกลที่ทำงานใต้ท้องทะเลที่ความลึก 812 เมตร บริเวณปล่องภูเขาไฟใต้ทะเลซูมิสุ ซึ่งเป็นภูเขาไฟใต้มหาสมุทรที่ยังไม่ดับ อยู่ใกล้กับหมู่เกาะโองะซาวาระของญี่ปุ่น 

เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะที่เต็มไปด้วยอุปสรรค จึงมีเพียงอุปกรณ์และยานพาหนะเคลื่อนที่พร้อมระบบควบคุมจากระยะไกล (ROV) เท่านั้นที่สามารถลงไปสำรวจได้ การตรวจสอบและค้นหาแมงกะพรุนพันธุ์นี้จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง 

นับจากที่มีการเก็บตัวอย่างครั้งแรก ก็ไม่พบแมงกะพรุนไม้กางเขนฯ ​นี้อีกเลยจนกระทั่งในปี 2563 ที่เครื่อง ROV ตรวจพบแมงกะพรุนดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถจับตัวมันไว้ได้

ทีมวิจัยซึ่งนำโดยอังเดร โมแรนดินิ ศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ประเทศบราซิล ได้เผยแพร่รายงานการค้นพบของพวกเขาในวารสาร Zootaxa เมื่อเดือนพ.ย. 2566 โดยเป็นผลงานจากการร่วมวิจัยของทีมนักวิจัยของญี่ปุ่นจาก JAMSTEC (Japan Agency for Marine-Earth Science and Technology) และสถาบัน OIST (Okinawa Institute of Science and Technology)

ตามรายงานระบุว่าได้มีการจัดประเภทของแมงกะพรุนสายพันธุ์ใหม่นี้อยู่ในวงศ์ย่อยใหม่ที่มีชื่อว่า Santjordiinae โดยชี้ว่ามันมีวิวัฒนาการที่ไม่เหมือนแมงกะพรุนสายพันธุ์อื่นและมีแนวโน้มว่าเป็นการปรับตัวในรูปแบบใหม่ 

ลักษณะที่แตกต่างไปจากแมงกะพรุนทั่วไปหลายประการยังก่อให้เกิดคำถามว่ามันเป็นสัตว์มีพิษหรือไม่ 

แต่น่าเสียดายการศึกษาแมงกะพรุนสายพันธุ์นี้กำลังเจออุปสรรค เนื่องจากการวิจัยต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมงานหลายฝ่าย อีกทั้งบริเวณที่พบแมงกะพรุนไม้กางเขนแดงนี้มีโมเลกุลตั้งต้นของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อุดมสมบูรณ์มากและอาจได้รับการพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต 

ที่มา : nextshark.com

เครดิตภาพ : YouTube / JAMSTEC 海洋研究開発機構