เมื่อวันที่ 12 ก.พ. รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “ควรให้คนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้หรือยัง” มีรายละเอียดดังนี้

งานวิจัยส่วนบุคคลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 15-19 ปี) ที่กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 504 คน (13 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2566) และจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 18-26 ปี) ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย จำนวน 500 คน (13-15 กันยายน 2566)

1.ข้อคำถาม คน Gen Z มัธยมปลาย ว่า “ท่านคิดว่า ควรให้คนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้หรือยัง”

ผลการวิจัยพบว่า คน Gen Z มัธยมปลาย เห็นว่าควรสมัครได้ ร้อยละ 51.2 (258 คน) เห็นว่ายังสมัครไม่ได้ ร้อยละ 20.8 (105 คน) ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 28.0 (141 คน)

จากการสัมภาษณ์เชิงลึก คน Gen Z มัธยมปลาย เห็นว่าคนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ควรสมัคร สส. ได้ ให้เหตุผล เช่น เป็นผู้ใหญ่แล้ว, เป็นเกณฑ์ของสังคมไทยมาแต่อดีตว่าโตแล้ว, เป็นคนรุ่นที่มีสิติปัญญาที่สอดรับกับยุคโลกาภิวัตน์, เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยให้สังคมไทยหลุดออกจากหล่มสังคมเก่า, คนรุ่นใหม่มีความคิดและประสบการณ์ใหม่ๆ จะช่วยพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นได้เร็วขึ้น, ควรยกเลิกระบบที่ทำให้คนสูงวัยเป็นผู้มีอำนาจในการเมืองการปกครองแต่ฝ่ายเดียว, จะทำให้การเมืองไทยมีสีสัน, คน Gen Z ที่มีจำนวนหลายล้านคนจะได้มีผู้แทนที่เป็นคนรุ่น Gen ของตนเอง, อายุ 18 ปีมีสิทธิเลือกตั้งได้แล้ว ดังนั้น อายุ 20 ปี ก็ต้องเป็น สส. ได้แล้ว, ที่จริงควรมีสิทธิสมัคร สส. ตั้งแต่อายุ 18 ปีเพราะมีสิทธิเลือกตั้งได้แล้ว, หลายประเทศที่พัฒนาแล้วก็ให้เป็น สส. เป็นรัฐมนตรีโดยใช้เกณฑ์ที่อายุ 18 ปี

คน Gen Z มัธยมปลาย เห็นว่า ยังสมัคร สส. ไม่ได้ ให้เหตุผล เช่น ยังไม่เป็นผู้ใหญ่, ยังโตไม่พอ, ยังศึกษาอยู่, ยังไม่มีวุฒิภาวะ, ยังไม่มีประสบการณ์มากพอ, ยังไม่ได้ทำงาน

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

อธิบายโดยผู้วิจัย : สังคมไทยในอดีตใช้เกณฑ์อายุ 20 จึงบวชได้ เป็นเกณฑ์ของการมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเริ่มมีการตั้งผู้ใหญ่บ้านกำนัน พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 สมัย ร.6 ใช้เกณฑ์อายุ 20 ปีเป็นผู้ใหญ่บ้านกำนันได้ ต่อมาเมื่อปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรใช้เกณฑ์อายุ 20 ปีทั้งชายหญิงให้มีสิทธิเลือกตั้ง และมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. และเป็นรัฐมนตรีได้ แต่รัฐประหารที่เกิดขึ้นต่อมา จะมุ่งเขยิบเกณฑ์อายุให้สูงขึ้น เป็น 23 ปีโดยรัฐประหารปี 2476 ส่วนรัฐประหาร 2490 เขยิบเกณฑ์อายุ สส. สูงสุดในประวัติศาสตร์เป็น 35 ปีจึงสมัคร สส.ได้

รัฐธรรมนูญปี 2492 ลดลงมาเหลืออายุ 30 ปี จึงสมัคร สส. ได้ รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 ให้อายุ 25 ปีมีสิทธิสมัคร สส. ได้ อายุ 35 ปี จึงมีสิทธิเป็นรัฐมนตรีได้ นี่คือการเมืองเรื่องอายุ ที่ฝ่ายรัฐทหารรัฐประหารมุ่งกีดกันคนอายุน้อยออกจากสนามแห่งอำนาจของไทยเพื่อรักษาระบอบเดิมไว้ให้ยาวนานที่สุด

2.ข้อคำถาม คน Gen Z มหาวิทยาลัย ว่า “ท่านคิดจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในอนาคตหรือไม่”

ผลการวิจัยพบว่าคน Gen Z มหาวิทยาลัย คิดลงสมัคร สส. ร้อยละ 27.0 (135 คน) ไม่คิดลงสมัคร สส. ร้อยละ 52.0 (260 คน) ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 21.0 (105 คน)

จากการสัมภาษณ์เชิงลึก คน Gen Z มหาวิทยาลัย ที่คิดลงสมัคร สส. ในอนาคต ให้เหตุผล เช่น จะสร้างประเทศชาติให้เจริญได้ ต้องทำงานทางการเมือง, ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะยิ่งสามารถสร้างชาติได้, ถ้าเป็น สส.ฝ่ายค้าน ก็จะตรวจสอบการคอรัปชั่นได้ดีขึ้น, จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ดียิ่งขึ้น, จะช่วยเร่งรัดประสานให้ราชการและหน่วยท้องถิ่นมีการแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ดีขึ้น, สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องของบ้านใหญ่, การเมืองไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำ, การเมืองไม่ใช่เรื่องของตระกูลเก่า, การเมืองไม่ใช่เรื่องของกลุ่มเศรษฐี, การเมืองไม่ใช่เรื่องของการซื้อเสียง, ประชาชนไทยต้องการความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

กลุ่มที่ไม่คิดลงสมัคร สส.ให้เหตุผล เช่น ขอแค่เป็นคนกาบัตรลงคะแนนให้คนรุ่นใหม่ไปทำงาน, ส่วนตัวไม่ชอบอาชีพนี้ เพราะคิดว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ถ้าทำงานจริงจังจะไม่มีเวลาเป็นของตนเองและครอบครัว, อาชีพทุกอาชีพก็ร่วมสร้างชาติให้พัฒนาได้, ไม่ได้มองว่าเป็นอาชีพของคนไม่ดีแบบคนรุ่นก่อน แต่เป็นอาชีพที่มีงานรอบด้าน, งาน สส. ดูจะเป็นงานที่ต้องพูดเยอะคิดเยอะ, งาน สส. ดูจะต้องใช้อิเนอร์จี้เยอะ, งาน สส. ดูจะต้องปะทะเผชิญหน้ากับกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มอำนาจต่างๆ เยอะ, เป็นอาชีพของคนมีเงิน มีตระกูล, เป็นอาชีพของนักธุรกิจ ข้าราชการเกษียณระดับสูง, เป็นอาชีพไม่ซื่อสัตย์ต่อคำพูด

อธิบายโดยผู้วิจัย : จำนวนผู้ที่ปรารถนาลงสมัคร สส. ในอนาคตมีร้อยละ 27 นับว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อทศวรรษก่อนๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะกระบวนทัศน์ในอดีต คนหนุ่มสาวถูกทำให้ถอยห่างจากสนามการเมืองการเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นคนมีตระกูลหรือคนบ้านใหญ่ในปัจจุบัน มีคนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยอยู่กว่า 1.4 ล้านคน หากมีคนจำนวน 1 ใน 4 ของคนรุ่นนี้เข้าสู่สนามการเมืองในอนาคต กล่าวได้ว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองไทยไปอย่างมากทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ “ธำรงศักดิ์โพล”