ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพิพาท “จุดหมุดนิรนาม ส.ป.ก.” บุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อทำการเกษตรประมาณ 3 ไร่ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

บังอาจรุกเขาใหญ่! ‘ธรรมนัส’ เดินเครื่องลงพื้นที่สางปมพิพาท ‘จุดหมุดนิรนามส.ป.ก.’

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 15 ก.พ.67 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ยืนยันว่า “เป็นขบวนการ ยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ โดยเจตนา” โดยทำหนังสือชี้แจงถึง นายอรรถพล เจริญชันษา ออส. และผู้บริหาร อส. ทุกท่าน เรื่อง รายงานการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระบุว่า การดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนทำกินได้อย่างมั่นคง สนับสนุนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ป่า โดยให้ทำความเข้าใจกับชุมชน ไม่ให้กระทบกับวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชุมชนดั้งเดิม รวมถึงการป้องกัน ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม

ด้วยเมื่อวันที่ 6 ม.ค.67 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ตรวจยึดพื้นที่บุกรุกแผ้วถางป่า ปรับพื้นที่ทำการปลูกต้นมะม่วง ทำการตรวจยึดพื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 3-3-05 ไร่ และตรวจพบหลักหมุด ส.ป.ก. จำนวน 3 หมุด ในพื้นที่ และเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 คณะเจ้าหน้าที่ได้รับสัญญาณภาพจากกล้อง NCAPS ที่ติดตั้งไว้ พบผู้กระทำผิด 5 ราย กำลังรดน้ำต้นมะม่วง จึงได้เข้าทำการจับกุม พร้อมทั้งตรวจยึดรถยนต์ จำนวน 1 คัน ส่งดำเนินคดีเพิ่มเติม

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ในเว็บไซต์ของสำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน มีการกำหนดพื้นที่สำหรับการปฏิรูปที่ดินเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวน 2,933-2-7 ไร่ และมีการกำหนดรูปแปลงเพื่อออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 จำนวน 42 แปลง เนื้อที่ประมาณ 972-2-79 ไร่ และจากการตรวจสอบข้อมูลรายชื่อบุคคลผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) พบว่า ไม่ใช่ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งไม่เข้าข่ายการเป็นเกษตรกร

ต่อมานายกิติศักดิ์ พรหมพินิจ ผู้ใหญ่บ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมลูกเขย แจ้งว่า ส.ป.ก. จ.นครราชสีมา ออกประกาศรายชื่อการคัดเลือกเกษตรกรให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 จำนวน 3 ราย 3 แปลง เนื้อที่ประมาณ 73-0-37 ไร่ ปรากฏรายชื่อ บุคคล 3 ราย มาเพื่อให้ตนปิดประกาศ หากผู้ใดประสงค์คัดค้านให้ยื่นคำร้องที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 จำนวน 5 ราย 5 แปลง เนื้อที่ประมาณ 72-2-27 ไร่ ปรากฏรายชื่อ รวมทั้งหมด 5 ราย

โดยครั้งที่ 2 ตนก็ไม่ได้รับหนังสือจาก ส.ป.ก. จ.นครราชสีมา ซึ่งตามประกาศทั้ง 2 ครั้งดังกล่าวไม่ได้ระบุตำแหน่งที่ตั้งของแปลง พร้อมทั้งให้ข้อมูลและยืนยันว่าบุคคลตามรายชื่อดังกล่าวไม่ใช่ราษฎรที่อยู่อาศัยหรือเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในบริเวณท้องที่บ้านเหวปลากั้ง และพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีแนวถนนป่าไม้ลำลองเป็นแนวเขตอย่างชัดเจน และไม่มีบุคคลใดเข้าครอบครองทำประโยชน์มาก่อน แต่อย่างใด

สำนักอุทยานแห่งชาติได้รายงานข้อมูลดังกล่าวให้ ป.ป.ช. ทราบและพิจารณาดำเนินการตรวจสอบ สอบสวนข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ในการดำเนินการรังวัดและกำหนดรูปแปลง ส.ป.ก.4-01 ในเว็บไซต์ ของสำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน (สผส.) การฝังหลักหมุด ส.ป.ก. และออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567

ในวันที่ 13 ก.พ.67 เวลาประมาณ 09.00 น. คณะพนักงานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นายธานนท์ โสภิตชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 นายพนัชกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับนายกิติศักดิ์ พรหมพินิจ ผู้ใหญ่บ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เข้าตรวจสอบพื้นที่ที่ตรวจพบการบุกรุกแผ้วถางที่ดิน โดยอ้างเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 และพบการฝังหลักหมุด ส.ป.ก.4-01 จำนวนมาก ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพป่าดิบแล้งอุดมสมบูรณ์และพบร่องรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า เช่น เก้ง ช้าง กระทิง เป็นต้น

โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ติดกับถนนป่าไม้ลำลองซึ่งเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ในท้องที่บ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันรื้อถอนหลักหมุดเขต ส.ป.ก. ที่ตรวจพบทั้งสิ้น รวม 27 หมุด (นำส่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา 1 หมุด และนำส่งพนักงานสอบสวน 1 หมุด) เสาหลักเขต 5 ต้น รื้อถอนต้นมะม่วงที่ปลูกเพื่อยึดครองพื้นที่ จำนวน 20 ต้น และรื้อถอนป้ายประกาศที่แสดงการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน 1 ป้าย พร้อมจัดทำบันทึกการตรวจสอบ/ตรวจยึดเพิ่มเติม เพื่อแจ้งความกล่าวโทษผู้กระทำผิด และร้องขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ของเจ้าหน้าที่รัฐ 3 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สนับสนุนให้เกิดการกระทำผิด โดยพฤติการณ์ของผู้กระทำผิด คณะพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการกระทำเป็นขบวนการสนับสนุนเกี่ยวข้องกัน เพื่อออกเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 โดยมิชอบในเขตป่าอนุรักษ์ โดยมีการแบ่งหน้าที่กัน จึงได้จัดทำบันทึกส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อสืบสวนสอบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป

ต่อมาเวลา 14.00 น. ได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดนครราชสีมา (คปป.จ.นม.) ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา มีนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาในวาระที่ 5.1 การตรวจพบหลักหมุด ส.ป.ก. ปักฝังในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ท้องที่อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา นายชัยยา หน.อช.เขาใหญ่ ได้รายงานการตรวจพบการฝังหลักหมุดและออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณบ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี และนายชัยวัฒน์ ผอ.สอช. ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าในกรณีดังกล่าวสำนักอุทยานแห่งชาติได้รายงานข้อมูลให้ ป.ป.ช. ทราบและพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 และในวันนี้คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจสอบ/ตรวจยึดพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อนำส่งพนักงานสอบสวน พร้อมทั้งได้จัดทำหนังสือรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีการออกเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต่อไป

โดยผู้แทนปฏิรูปที่ดินยืนยันว่าการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งสามารถดำเนินการได้ และในที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าให้ ส.ป.ก. จ.นครราชสีมา หยุดกระทำการใด ๆ ในบริเวณพื้นที่พิพาท และให้ดำเนินการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน

นายชัยวัฒน์ ขอฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ หรือผู้บริหารของกระทรวงฯ ว่าตามนโยบายการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด หากเป็นเกษตรกรผู้ที่ได้ทำกินและประกอบอาชีพเกษตรกรจริงก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด แต่หากเป็นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย/ทำกินของราษฎร ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 อยู่แล้ว ตามเงื่อนไขที่กรมฯ กำหนด แต่ในขณะนี้กลับพบการออกผังแปลง ส.ป.ก. ภายในเขตป่าอนุรักษ์ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ ไม่มีบุคคลใดเข้าไปใช้ประโยชน์ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในหลายพื้นที่

จึงขอให้ผู้บริหารของทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดนโยบายในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน ในประเด็นการประกาศกำหนดเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์และการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน โดยในเรื่องนี้อาจมองได้ 2 มุม คือ การเข้าใจกันผิดพลาด หรือเป็นการกระทำโดยทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเองในการออกเอกสาร ส.ป.ก. ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตของเจ้าหน้าที่หรือไม่