กรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้ออกมายืนยันว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 930 รายชื่อ ที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะอนุกรรมการพักการลงโทษ และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เสนอไปยังกระทรวงยุติธรรมรับทราบ เนื่องจากคุณสมบัติของนายทักษิณครบถ้วน ทั้งยังรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน (180 วัน) จึงผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

รอรับได้เลย! 18 ก.พ. ฤกษ์วันปล่อยตัว ‘ทักษิณ’ กลับบ้านจันทร์ส่องหล้า

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า เลขที่ 472 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 แขวงและเขตบางพลัด กรุงเทพฯ ภายหลังจากมีรายงานข่าวว่า นายทักษิณจะเดินทางกลับไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้าในช่วงหลังเที่ยงคืนวันเสาร์ถึงเช้าวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. โดยใช้รถนำส่งผู้ป่วยของ รพ.ตำรวจ มารอรับบริเวณช่องทางชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นสถานที่จอดรถของ รพ.ตำรวจ และกลับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าทันที เพื่อหลีกเลี่ยงกลุ่มสื่อมวลชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวรอทำข่าว จากนั้นในช่วงสัปดาห์แรก นายทักษิณจะเก็บตัวเงียบอยู่กับครอบครัวเท่านั้น

โดยบรรยากาศช่วงเช้า 1 วันก่อนถึงวันพักโทษ พบว่า พื้นที่เขตบางพลัด มีฝนตกหนักก่อนซาลงไป สำหรับจุดแรก หน้าบ้านล้อมรอบด้วยกำแพงสีขาวมุก มีประตูทางเข้า-ออกทั้งสิ้น 2 ทาง และเมื่อเวลา 09.15 น. ที่ผ่านมา พบรถเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สน.บางพลัด ขี่วนเข้ามาภายในซอย 2 ครั้ง ก่อนขี่ออกไป นอกจากนี้ เมื่อไปสำรวจบ้านพักอีกหลังหนึ่งของนายทักษิณ ซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงสีน้ำตาล มีป้ายข้อความติดระบุว่า “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันกับบ้านพักจุดแรก มีความยาวตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 แยก 12 จนถึง ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 แยก 20 เมื่อสำรวจไปยังพื้นที่ภายในบ้านทั้งสองหลัง ยังคงปิดเงียบสนิท ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ

นอกจากนี้ “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ยังได้รับรายงานจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม ว่า หลักการปล่อยตัวผู้ต้องขังสูงวัยและมีอาการเจ็บป่วยออกจากสถานที่คุมขังนั้น หากดูในกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ ณ รพ.ตำรวจ เกินกว่า 120 วัน จนถึงวันที่มีเงื่อนไขคุณสมบัติผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือสูงอายุ ทางราชทัณฑ์ โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อาจเป็น ผบ.เรือนจำ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำ ที่ได้รับมอบหมาย จะต้องเป็นผู้เดินทางไปพบผู้ได้รับการพักโทษ พร้อมกับนำเอาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษ ให้เจ้าตัวเซ็นลายมือชื่อ

ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องพูดคุยกับแพทย์ รพ.ตำรวจ ผู้ทำการรักษาว่านายทักษิณ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเพียงพอต่อการปล่อยตัวออกจากสถานพยาบาลหรือไม่นั้น เนื่องด้วยนายทักษิณ ถือว่าครบวันบริหารโทษ และได้เข้าสู่กระบวนการพักโทษแล้ว อีกทั้งระดับชั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็อนุมัติรับทราบให้ปล่อยตัวพักโทษ เมื่อถึงวันพักโทษ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถคุมตัวไว้ได้อีกต่อไป ในกรณีที่นายทักษิณ มีอายุ 74 ปี และเจ็บป่วย ก็เป็นสาเหตุสำคัญให้กรมคุมประพฤติไม่ต้องติดกำไล EM ส่วนกระบวนการเกี่ยวกับการคุมประพฤติระหว่างพักโทษ อาทิ ข้อกำหนด ข้อห้ามการกระทำ หรือเงื่อนไขการรายงานตัวต่าง ๆ หลังจากนี้ ก็ค่อยดำเนินการในภายหลังได้ โดยเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะมีเวลา 3 วัน ในการเดินทางเข้าพบผู้ได้รับการพักโทษ นับแต่วันที่ได้พักโทษ

รายงานข่าวระบุอีกว่า สำหรับกรณีของนายทักษิณ หากวันพักโทษที่จะต้องปล่อยตัวนั้นไปตรงกับวันหยุด ตามหลักการแล้ว ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะมอบหมายให้พัศดีเวรทำหน้าที่เดินทางไปยังสถานที่คุมขัง ก็คือ รพ.ตำรวจ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนปล่อยตัวผู้ได้รับการพักโทษ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า ผบ.เรือนจำฯ อาจจะเดินทางไปด้วยตัวเอง

รายงานข่าวอธิบายถึงกระบวนการปล่อยตัวนายทักษิณ เมื่อได้รับการพักโทษ ว่า ตามกฎหมายแล้ว เวลาเที่ยงคืนที่กำลังเข้าสู่วันพักโทษ หรือ เวลา 00.00 น. วันที่ 18 ก.พ. ก็ถือว่าเจ้าตัวได้รับการพักโทษแล้ว แต่ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ไม่เคยมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังยามวิกาล และการปล่อยตัวจะต้องมีขั้นตอนของเอกสารต่าง ๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขัง และส่วนใหญ่จะทำในเวลาทำการปกติ เช่น เวลา 06.00 น. หรือเวลา 08.00 น. หรือบางเรือนจำอาจปล่อยตัวในช่วงเวลา 13.00 น. ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละเรือนจำ

จึงมีความเป็นไปได้ว่า ภายในวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. นายทักษิณจะได้รับการปล่อยตัวพักโทษ แต่ถึงอย่างไร ก็มีความเป็นไปได้อีกว่า แม้ได้รับการพักโทษแล้ว แต่นายทักษิณอาจจะนอนพักรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ ได้อีก หากสุขภาพยังไม่เอื้ออำนวยมากเพียงพอในการขยับหรือเคลื่อนย้าย จึงต้องดูในส่วนของรายละเอียดการพูดคุยระหว่างแพทย์และผู้ป่วยประกอบด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ ครอบครัวหรือญาติ ก็จำเป็นต้องรับฟังเช่นเดียวกัน.