จากกรณี เกิดข้อพิพาทระหว่าง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กับ ส.ป.ก.โคราช สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิที่ดินให้แก่เกษตรกร หรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ โดยต่างฝ่ายก็อ้างแผนที่ของตัวเอง ทำให้เจ้ากรมแผนที่ทหารต้องเข้ามาเป็นคนกลางในการตรวจสอบว่า ที่ดินข้อพิพาทนั้นเป็นของใครกันแน่ตามที่ปรากฏเหตุการณ์ไปแล้วนั้น

เปิดไทม์ไลน์ไขปริศนาพิรุธ ‘โฉนด ส.ป.ก.บิน’ ในป่ามรดกโลกเขาใหญ่ จ่อขึ้นรูปแปลง 2,900 ไร่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ “ส.ป.ก.” นั้น ย่อมาจาก “สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ที่ดิน ส.ป.ก. คือ ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯ ให้ที่ดินแก่เกษตรกร ที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้ามาทำประโยชน์ โดยทำการเกษตรในที่ดินนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นที่ดินของรัฐ หรืออาจจะเป็นที่ดินที่ซื้อมาจากเอกชนอีกทีก็ได้ โดยที่ดิน ส.ป.ก. จะมีเอกสารสิทธิคือ “ส.ป.ก. 4-01” ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิที่แสดงการครอบครองที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมออกให้กับประชาชนที่เป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ต่อคน/ต่อปี และมีสิทธิถือครองครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่

เมื่อเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว ต้องทำประโยชน์จากการเกษตรกรรมเท่านั้น ทำอย่างอื่นมิได้ ตามกฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับที่ดินนี้ก็คือ พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 นอกจากนี้ยังไม่สามารถนำไปซื้อขายได้ (ตามกฎหมายพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาตรา 39) แต่ที่ดินนี้ สามารถตกทอดแก่ทายาทโดยชอบธรรมได้

กรณีหากนำไปซื้อขายกันแล้ว ผู้ที่ซื้อไปจะอ้างสิทธิว่าซื้อที่ดินมาโดยชอบแล้วเข้าไปทำประโยชน์ไม่ได้ มีโทษปรับ-จำคุก ส่วนผู้ขายหรือผู้ได้สิทธิก็จะเสียสิทธิในการทำกินบนที่ดินนั้นไป (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560 ระบุไว้ว่า การกระทำการที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวเป็นเหตุให้เกษตรกรสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามข้อ 11 ของระเบียบเข้าทำประโยชน์ อันการเสียสิทธิเข้าทำกินในที่ดิน และต้องออกจากที่ดินที่ได้รับอนุญาต หากไม่ยินยอมออก ถือเป็นการทำผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

‘กรมแผนที่ทหาร’ ลุยตรวจสอบแปลง ส.ป.ก.รุกเขาใหญ่ อธิบดีฯ ลั่นฮุบที่มรดกโลกไม่ได้!

สำหรับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นของ 2 หน่วยงานนั้นพบว่า เกี่ยวข้องกับที่ดินของภาครัฐอันเป็นที่ที่ส.ป.ก.รับมอบมาจากกรมป่าไม้ โดยจะมีข้อกำหนดอันได้แก่ ป่าที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือป่าที่เหมาะทำเกษตรกรรม เป็นป่าเศรษฐกิจ ป่าเสื่อมโทรม ในส่วนของป่าอนุรักษ์ ตามมติ ครม.แล้ว กรมป่าไม้ เมื่อส่งมอบแล้วมาประกาศเขตเป็นพระราชกฤษฎีกาให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินและเมื่อส.ป.ก.มีแผนงาน งบประมาณแล้ว เข้าดำเนินการแล้วให้ถือว่า เป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติแปลงนั้นแล้ว

กรณี หากพื้นที่ที่ป่าไม้ส่งมอบมายังมีลักษณะต้องห้าม คือยังมีสภาพเป็นป่าไม้สมบูรณ์ และมีสภาพไม่เหมาะ เป็นภูเขา ต้นน้ำ ลำธาร หรือเป็นพื้นที่สาธารณะชุมชน ยังร่วมใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส.ป.ก.ไม่สามารถนำจัดได้ ต้องส่งคืนกรมป่าไม้เท่านั้น ทั้งนี้ ป่าที่จะนำไปทำเป็นที่ดินส.ป.ก. จะต้องไม่รวมป่าในเขตอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตต้นน้ำลำธาร