เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดลำพูน โดยมี นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล นายโยธิน ประสงค์ความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายสมาน กองแก้ว ปลัดจังหวัดลำพูน นายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ นายอมร สุรินธรรม นายกเทศมนตรีตำบลเหมืองง่า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า หน้าที่ของคนมหาดไทยทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น พวกเราทุกคนมีหน้าที่ในการสนองแนวพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการมุ่งมั่นทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำรัสความว่า หากคนไทยเราต่อสู้กันจะไม่มีใครชนะ ประเทศชาติก็ไม่ชนะ ดังนั้น หากเราอยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุขและความสันติไม่ต่อสู้เอาชนะกัน ประเทศชาติก็จะชนะ พวกเราชาวมหาดไทยจึงจำเป็นต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ภายใต้แนวพระราชดำริของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่เป็นพลังสำคัญเปรียบเสมือนแรงผลักดันให้พวกเราร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดผลสำเร็จ อาทิ การขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยสวมใส่ผ้าไทย เพื่อ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาของคนไทย เกิดรายได้หมุนเวียนกลับสู่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังขยายผลสู่โครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน” ซึ่งเป็นเป้าหมายองค์รวมที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ทั้งหมดมีคำตอบ คือ หมู่บ้าน ที่เป็นจุดแตกหักของความสำเร็จ

“นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานหนังสือ “Sustainable City” แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และทรงมีพระดำรัสว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยในการทำให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ซึ่งการจะทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากการที่ทุกคนมีปัจจัย 4 ครบถ้วน ประชาชนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และขยายผลไปสู่การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เลี้ยงไก่ กบ จิ้งหรีด โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่ไข่และเป็ด เพื่อจะได้มีไข่รับประทานอย่างเพียงพอในทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ฟอง ซึ่งไข่ไก่ที่ต้มหรือลวกจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างยิ่ง เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วน” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า “หมู่บ้านยั่งยืน” ต้องมีภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งทีมอำเภอของนายอำเภอจะต้องมีความเข้มแข็งก่อน นายอำเภอในฐานะผู้นำประจำอำเภอ ต้องมีการลงพื้นที่แบบ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” และ “ผู้นำต้องทำก่อน” เพื่อเป็นผู้นำต้นแบบให้กับทีมภาคีเครือข่ายได้ลงพื้นที่ไปทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งทีมที่เป็นทางการ คือ ข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล และทีมที่ไม่เป็นทางการ คือ ผู้นำภาคีเครือข่าย และผู้ที่มีจิตอาสา ต้องมีระบบกลุ่มบ้านที่เข้มแข็ง สร้างให้เกิดกระบวนการรวมกลุ่มเป็นคุ้ม ป๊อก หย่อมบ้าน ดังที่เคยมีอยู่แล้วในอดีตให้รื้อฟื้นกลับคืนมา โดยมีกระบวนการที่ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ด้วยกระบวนการ 4 ร่วม ที่ได้ถอดบทเรียนความสำเร็จอย่างยั่งยืนจากโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 5,151 โครงการ ประกอบด้วย “ร่วมพูด ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” โดยจัดให้มีการประชุมภายในกลุ่มกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และร่วมกันทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การจัดทำธนาคารขยะ การดูแลผู้ป่วยติดเตียงและยากไร้ ซึ่งทั้งหมดนี้ภาคีเครือข่ายจะต้องมีความเข้มแข็ง ผู้นำต้องทำเป็นตัวอย่าง

“ขอให้จังหวัดลำพูนได้เป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนพลังภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหลัก “บวร” ร่วมกับคณะสงฆ์ โดยการทำให้เกิดพระผู้รับผิดชอบประจำตำบล “1 ตำบล 1 พระสงฆ์” ดังที่กระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ “บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนร่วมกับฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม” โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ร่วมกับฝ่ายสาธารณูปการ โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ประธานฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และลงนามบันทึกความร่วมมือ “หมู่บ้านรักษาศีล 5 (หมู่บ้านคุณธรรม)” ร่วมกับสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานอำนวยการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร หรือการประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืนร่วมกับองค์การสหประชาชาติ เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” นอกจากนี้ เรื่องปัญหายาเสพติดก็เป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมและประเทศชาติ เรื่องเร่งด่วนที่สุดที่จังหวัดต้องดำเนินการ คือ ช่วยกันค้นหาผู้ที่เป็นผู้ป่วยยาเสพติดและผู้ป่วยโรคจิตเภท โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องบูรณาการภาคีเครือข่าย ช่วยกันจัดตั้ง ควบคุม ดูแล ติดตาม ผู้เข้ารับการบำบัดตามศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ภายใต้การร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตัดวงจรยาเสพติดให้ได้ นอกจากนี้ ต้องค้นหาจำแนกนำผู้ค้ายาเสพติดมาดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด หากสืบสวนจากผู้เสพยาเสพติดแล้วมียาเสพติดในครอบครองจำนวนมากให้ดำเนินคดี และขยายผล รวมถึงการค้ายาเสพติดด้วย” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเนื่องมาเป็นระยะเวลา 132 ปี ที่คนมหาดไทยได้รับการไว้วางใจให้ทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยมีสถาบันผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นผู้นำในระดับพื้นที่ เพราะประเทศชาติจะมั่นคงได้ต้องมีสถาบันผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ คนมหาดไทยทุกคนต่างมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ดังนั้นทุกคนจึงต้องมุ่งมั่นตั้งใจทำงานในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ต้อง “ครองตน ครองคน ครองงาน” ให้ดี ต้องแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความจงรักภักดีและเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่พวกเรารักและหวงแหน หากเราทุกคนมีความรักความสามัคคีกัน ภารกิจการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ก็จะสำเร็จได้ ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยกันปัดเป่าความทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน และสำหรับท่านที่กำลังจะเกษียณอายุราชการก็ขอให้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานให้กับข้าราชการครูเกษียณอายุราชการที่จังหวัดนครนายก เมื่อปี พ.ศ. 2554 ความว่า “ทุกคนจะเกษียณอายุราชการได้แต่อย่าเกษียณการทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม”