เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับโครงการบัตรประชาชนใบเดียว สามารถรับยาที่ร้านขายยาได้ สำหรับการรักษาโรค 16 อาการนั้น เป็นโครงการที่ให้เฉพาะสิทธิผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เท่านั้น โดยร้านยาที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ จะมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ “สปสช. ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย”

สำหรับโรค 16 อาการประกอบด้วย 1.ไข้/ไอ/เจ็บคอ 2.ปวดข้อ 3.เจ็บกล้ามเนื้อ 4.อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน 5.บาดแผล 6.ปวดท้อง 7.ท้องเสีย 8.ปวดหัว 9.เวียนหัว 10.ปวดฟัน 11.ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 12.ถ่ายปัสสาวะขัด/เจ็บ/ลำบาก 13.ปวดประจำเดือน 14.ตกขาวผิดปกติ 15.ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และ 16.ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีรับสิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น การรับถุงยางอนามัย ยาคุม ชุดตรวจหาเชื้อ HIV ในส่วนนี้สามารถรับบริการได้ทุกสิทธิ ทั้ง ผู้มีสิทธิในระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค, ผู้ประกันตน และข้าราชการ โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวเช่นเดียวกัน

ขณะที่ ภก.ปริญญ์ สุขเกษม ร้านยาท่าแร้ง จ.เพชรบุรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพื่อให้บริการภายใต้นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ว่า นโยบายดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อยเข้าถึงบริการจากหน่วยบริการใกล้บ้านในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงหลังเวลาราชการ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้อย่างมากกับกลุ่มผู้ทำอาชีพค้าขาย และแรงงานนอกระบบประกันสังคม

นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกันของสถานพยาบาล รวมถึงการทำให้เกิดประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้นโยบาย ได้มีส่วนทำให้เภสัชกรในร้านยาสามารถประเมินอาการ จ่ายยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดกับผู้ป่วยได้ด้วย เพราะในประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์จะมีการระบุข้อมูลไว้ว่าผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาชนิดไหนบ้าง ไปรับบริการที่ไหนด้วยอาการอะไรมาแล้ว เนื่องจากบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยอาจให้ข้อมูลอาการของตนเองไม่ครบถ้วน

ตั้งแต่มีการให้บริการภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่จนถึงวันนี้ มีประชาชนมารับบริการเพิ่มขึ้นกว่า 100 คน สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ระดับหนึ่ง เพราะอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยทั้ง 16 กลุ่มอาการจะถูกเปลี่ยนถ่ายมาที่ร้านยามากขึ้น การที่คนไข้มารับบริการที่เราก็สะดวกกว่าแน่นอน เพราะบางคนจากบ้านไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยฯ ค่อนข้างไกล บางคนอาจห่างถึง 7 กิโลฯ เลยก็มี อีกอย่างคือเรื่องนอกเวลาราชการด้วย เพราะเราเปิดให้บริการตั้งแต่ 17.00–21.00 น. ในวันธรรมดา ส่วนเสาร์และอาทิตย์ก็เปิดตั้งแต่ 10.00–21.00 น. เลย อีกทั้งยังสามารถจองผ่านระบบออนไลน์ของหมอพร้อมได้เลยด้วย

ทั้งนี้ในส่วนขั้นตอนก็ไม่ยากอย่างที่หลายคนคิด เพียงแค่ 1. หากใครสะดวกจองคิวผ่าน “หมอพร้อม” ก็สามารถจองไว้ก่อนได้ ส่วนใครไม่จองก็สามารถมาที่ร้านยาได้เช่นกัน 2. แจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อนว่ามาด้วยอาการอะไร และต้องการใช้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3. เภสัชกรจะซักประวัติและอาการ 4. ยื่นบัตรประชาชนให้เภสัชกรเช็กสิทธิพร้อมยืนยันตัวตนเพื่อเข้ารับบริการ 5. จ่ายยาและอธิบายการใช้ยา 6. ใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตนหลังเข้ารับบริการ จากนั้นก็สามารถกลับบ้านได้เลย หลังจากนั้น 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง เภสัชกรจะโทรฯหาผู้ป่วย เพื่อติดตามอาการ โดยถ้าเภสัชกรประเมินอาการแล้วไม่ดีขึ้นหรือควรไปโรงพยาบาล ก็จะมีการทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลให้ โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว

ภก.ปริญญ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการเบิกจ่ายปัจจุบันตอนนี้ก็เบิกจ่ายได้รวดเร็วภายใน 3 วันทำการก็ได้เงินเลย จากเมื่อก่อนที่ต้องรอ 15 วัน รวมถึงราคาที่ สปสช. จ่ายก็สามารถทำให้ร้านยาสามารถบริการจัดการได้ไม่มีปัญหา เสียงสะท้อนจากประชาชนก็ค่อนข้างดี ยาของเราก็มีมาตรฐานไม่ต่างจากที่โรงพยาบาล และเขาก็มั่นใจ และพอใจจะมารับยาที่ร้านเรา อีกทั้งพอมีการโทรฯติดตามอาการด้วย เขาก็ยิ่งรู้สึกว่าได้รับการดูแลที่ดีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ซื้อยาแล้วจบเลย

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 1.สายด่วน สปสช. 1330 2.ช่องทางออนไลน์ (ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6) และFacebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ