นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการชุมชนล้อมรักษ์ (CBTX) ในพื้นที่บ้านแหลมยาง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พร้อมเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษา เพื่อให้สามารถกลับสู่สังคมได้อย่างปกติสุข โดยมีนายนิพนธ์ ชิตมณี ปลัดอำเภอจะนะ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน เยาวชน สมาชิกในครอบครัวผู้เข้าอบรมและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม

นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การติดตามโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับชุมชน เป็นนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยชุมชนล้อมรักษ์ (CBTX) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยยาเสพติด เริ่มจากการค้นหาและนำเข้าสู่การบำบัดรักษาตามรูปแบบที่รัฐกำหนดไว้ เช่น การบำบัดโดยสถานพยาบาล การบังคับบำบัดในศูนย์ฟื้นฟูการบำบัด หรือในเรือนจำ แต่การบำบัดดังกล่าวเป็นการบำบัดที่เน้นตัวผู้ป่วยที่ต้องรับผิดชอบแก้ไขตนเอง ผู้ติดมีโอกาสกลับมาเสพติดซ้ำเมื่อกลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิม ประสบปัญหาเดิมๆ ในชีวิตการบำบัดรักษาจึงไม่สามารถใช้การแพทย์แต่เพียงอย่างเดียวแต่ต้องควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ดังนั้นปัจจัยด้านชุมชนและครอบครัวของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาได้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนล้อมรักษ์ (CBTX) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในอำเภอจะนะ ซึ่งจังหวัดสงขลา ได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน

ทั้งนี้ชุมชนตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนนำร่องของอำเภอจะนะและเป็นชุมชนที่มีต้นทุนทางสังคมที่มีศักยภาพที่เข้มแข็งซึ่งเป็นชุมชนนำร่องในกิจกรรมดังกล่าวในครั้งนี้ สำหรับอำเภอจะนะ มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานยาเสพติดชุมชนล้อมรักษ์ (CBTX) ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 14 หมู่บ้าน จาก 139 หมู่บ้าน โดยดำเนินการในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม 2567 จํานวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านคูนายสังข์ ตำบลแค และหมู่บ้านโพรงงู ตำบลท่าหมอไทร ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถทำให้กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดระดับสีเขียว สามารถตระหนักและเข้าถึงกระบวนการบำบัดยาเสพติดในชุมชนได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงกระบวนการบำบัดได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับบริการ แก้ปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ลดความแออัดในการบำบัดรักษา และเป้าหมายสูงสุดคือการที่ผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่องจนถึงการติดตามและกลับมาประกอบอาชีพเป็นการคืนคนดีสู่สังคม