เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือการจัดการขยะและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย และมูลนิธิยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) โดยมี นายคาลัม แมคคันซี กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) นายอับดุล มาร์ติน กรรมการผู้จัดการ กรามีน ทรัสต์ (Grameen Trust) พร้อมคณะ ร่วมหารือ โดย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวปรียาภัทร์ จันทร์ทิพย์ ผู้อำนวยการกองสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น นางนิภาวัลย์ เพ็ชร์ผึ้ง ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณนายคาลัม แมคคันซี กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) และคณะ ที่ให้เกียรติมาประชุมร่วมกันที่กระทรวงมหาดไทย ได้พบกันอีกครั้งหลังจากได้มีโอกาสได้พบกันในงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 (COP 28) ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จึงเป็นที่มาของการพูดคุยหารือกันในวันนี้ กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย “Partnership” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ตลอดจนการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงมหาดไทยที่มีกลไกในระดับพื้นที่ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยมีส่วนกลางเป็นผู้นำในการบริหารส่วนภูมิภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด นายอำเภอ 878 อำเภอ รวมถึงกำนันใน 7,036 ตำบล และผู้ใหญ่บ้านใน 67,619 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นภาคประชาชนแบบกึ่งทางการที่ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,849 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำให้มีส่วนในการบริหารและการกำกับดูแลทุกแห่งทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีรัฐวิสาหกิจในสังกัด อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย ซึ่งจะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ครอบคลุมทุกมิติ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงมีองคาพยพที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจึงเป็นภารกิจของกระทรวงมหาดไทย

“องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย นำโดย คุณกีตาร์ ซับบระวาล (Ms. Gita Subhawal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เห็นความสำคัญในกลไกระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ โดยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นพันธมิตรขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมายในทุกพื้นที่ ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นหนึ่งในพันธกิจของกระทรวงมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยและองค์การสหประชาชาติได้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยจนเกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งเราทุกคนมุ่งมั่นขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ รักษาโลกที่ดีใบเดียวนี้เพื่อลูกหลานของเรา ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนและกำหนดเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องขจัดความยากจนของคนทุกช่วงวัย การทำสงครามกับยาเสพติด ขยายผลต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมไปถึงภารกิจด้านต่าง ๆ อาทิ ที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพอนามัย การช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การส่งเสริมให้เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ รวมถึงการดูแลสุขภาพของประชาชน การรณรงค์ให้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ นำไปสู่การมีชีวิตยืนยาวและมีความสุข” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยไว้วางใจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ทำหน้าที่ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุด คือ หน่วยปกครองที่เล็กที่สุดของประเทศไทยคือ “หมู่บ้าน” ให้เกิดความยั่งยืน ดังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานมอบหมายหน้าที่ให้กระทรวงมหาดไทยทำให้เกิด “หมู่บ้านยั่งยืน” ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้นำ CEO ในพื้นที่ และนายอำเภอ เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัดและอำเภอ นำภารกิจงานของทุกกระทรวงสู่การทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทำหน้าที่ดูแลส่งเสริมการพัฒนาสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาส่งเสริมการศึกษาและสุขภาพอนามัยของเด็กเยาวชนและ เด็กเล็กที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการส่งเสริมพัฒนาเด็กเล็กจะเป็นกุญแจสำคัญของชาติและของโลกในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการป้องกันโรคและสร้างความแข็งแรงให้กับประชาชน โดยมีโรงพยาบาลขั้นปฐมภูมิ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งอยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“นอกจากนี้ ในการส่งเสริมด้านการบริหารจัดการขยะ การคัดแยกขยะ ด้วยการจัดทำ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” เป็นอีกผลการดำเนินสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ที่เราได้รับการรับรองในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อน จนได้รับการรับรองจำนวนคาร์บอนเครดิต ทำให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตเป็นเงินหมุนเวียนกลับไปสู่ชุมชน โดยในเฟสแรกเราสามารถคำนวณเป็นการลดคาร์บอนเครดิตได้ 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) สามารถขายได้เป็นเงิน จำนวน 816,400 บาท โดยการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งในเฟสที่ 2 สามารถลดได้กว่า 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) เราจึงคาดการณ์ว่า ในปี 2022-2026 จะสามารถลดได้ถึง 1,875,443 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งได้ลดลงมากว่าเป้าหมายของ NDC ในปี 2030 กว่า 1.78 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือนทั่วประเทศเปรียบเสมือนกับการปลูกต้นไม้ 155 ล้านต้น อีกทั้งปุ๋ยหมักที่ได้ยังประโยชน์ให้กับการปลูกพืชผักสวนครัวของครัวเรือน ในส่วนของการจัดการขยะรีไซเคิล เราได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้บริหารจัดการขยะ สามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่านำมาเป็นสวัสดิการให้กับชุมชน ในส่วนของการจัดการขยะพิษได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในกระบวนการทำลายขยะพิษ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีระเบียบในการจัดตั้งอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งมีภารกิจในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผักสวนครัว นอกจากนี้ ในเรื่องการส่งเสริมให้เป็นชุมชนยั่งยืน ส่งเสริมการป้องกันยาเสพติดในชุมชน โดยมีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน การดำเนินโครงการประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงการส่งเสริมความมั่นคงทางเครื่องนุ่งห่ม ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้สีธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน จนทำให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ออกสิทธิบัตรคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ด้าน Sustainable fashion สามารถรับรองคาร์บอนเครดิตในกระบวนการผลิตผ้า แสดงให้เห็นว่าภารกิจของกระทรวงมหาดไทยครอบคลุมในทุกมิติของประชาชน

“เรามีความชื่นชม ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ซึ่งท่านเปรียบเสมือนผู้เป็นต้นแบบการจัดตั้งกองทุนให้กับประเทศไทย เป็นผู้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก กระทรวงมหาดไทยจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับมูลนิธิยูนุส ประเทศไทย และหวังว่าจะได้ดำเนินการร่วมกันขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้เกิดผลกับพี่น้องประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น ในส่วนการสนับสนุนกระทรวงมหาดไทยมีกลไกในพื้นที่ อีกทั้งมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนแม่ของแผ่นดิน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การค้นหาปัญหาครัวเรือนแบบพุ่งเป้าตามระบบ ThaiQM การสนับสนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า OTOP ซึ่งเรายินดีที่จะทำทันที เพื่อร่วมกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พี่น้องประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายคาลัม กล่าวว่า มูลนิธิยูนุส ประเทศไทย ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) มีเครือข่ายทั่วโลก มากกว่า 40 ประเทศ รวมกว่า 200 องค์กรทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนทำงานร่วมกันเพื่อสังคม ขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่และตอบสนองปัญหาเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก เราสืบทอดจาก “นายธนาคารเพื่อคนจน” ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ซึ่งท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2549 โดยเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกจากการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้บริการสินเชื่อรายย่อยสําหรับกลุ่มคนที่ยากจน หรือ “ไมโครไฟแนนซ์” ในการเริ่มต้นธุรกิจขนาดย่อยของตัวเอง ทําให้ธนาคารกรามีน (Grameen Trust) และองค์กรยูนุสได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มูลนิธิยูนุส ประเทศไทย มีเป้าหมายสร้างโลกสามศูนย์ คือ โลกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การว่างงานเป็นศูนย์ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการ และความยากจนเป็นศูนย์ด้วยการขจัดความร่ำรวยแบบกระจุกตัว โดยจะเปลี่ยนแปลงแนวคิดระบบทุนนิยมที่มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดมาเป็นการสร้างสังคมที่เสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสังคมและประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก หนี้ครัวเรือนตามอัตรา GDP ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และเป็นประเทศที่มีสังคมสูงวัย มีแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคม โดยผลที่คาดหวังในการร่วมมือกันจะนำไปสู่การหลุดพ้นความยากจนเมื่อได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจเกิดการเติบโต ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การแลกเปลี่ยนหารือในวันนี้จะนำไปสู่การสร้างผลที่ดีต่อสังคมและประชาชน ซึ่งการทำงานร่วมกันตามบริบทของแต่ละประเทศและสังคมจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประชาชนและประเทศไทยได้ ทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม