ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินมูลค่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2567 จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ 1.ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่แม้จะชะลอลงบ้างแต่จะยังขยายตัวได้ใกล้เคียงปีก่อน

2.ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปี 2567 สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกในเดือน ม.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน อีกทั้ง ข้อมูล PMI ภาคการผลิตขั้นต้นในเดือน ก.พ. ของสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของไทยยังขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 17 เดือน แม้ภาคการผลิตในหลายประเทศจะยังซบเซาต่อเนื่อง

3.ราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในรูปเปอร์เซ็นต์ YOY จะมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่เหลือของปีตามปัจจัยฐาน โดยเฉพาะในเดือน มี.ค. ที่อาจติดลบสูง เนื่องจากไทยส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2566 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ เช่น ปัญหาการขนส่งในทะเลแดงและคลองปานามา การแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทานโลก การนำภาษีนำเข้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกีดกันทางการค้ามาใช้มากขึ้น และการฟื้นตัวของความต้องการนำเข้าสินค้าของประเทศผู้นำเข้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

เหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าของกบฏฮูตีในบริเวณทะเลแดง (คลองสุเอซ) และภัยแล้งในคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือที่สำคัญของโลกส่งผลให้ค่าระวางเรือและระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา โดยค่าระวางเรือในการขนส่งระหว่างไทยไปยังยุโรป เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 4,900 ดอลลาร์สหรัฐ ณ 17 ก.พ. 2567 (เพิ่มเป็น 4 เท่าของเดือน พ.ย. 2566)

ขณะที่ค่าระวางเรือในการขนส่งระหว่างไทยไปยังสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็นถึง 7,200 ดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 3 เท่าของเดือน พ.ย. 2566) สร้างความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปในช่วงต้นปี 2567 โดยเฉพาะการส่งออกไปยุโรปเนื่องจากต้องพึ่งพาการเดินเรือผ่านคลองสุเอซ

ล่าสุดความกังวลในสถานการณ์ดังกล่าวปรับลดลง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.2567 ที่ออกมาไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนักจากเหตุการณ์ทั้งสอง โดยยังสามารถขยายตัวได้มากถึง 10%YOY (หักทอง 8.5%YOY) แม้จะค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาลที่ -0.3%MOM_SA อีกทั้ง การส่งออกไปตลาดยุโรปสามารถขยายตัวได้ชัดเจน 4.8% หรือ 2.9%MOM_SA

นอกจากนี้ ค่าระวางเรือยังเริ่มปรับลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงก่อนเหลือ 3,900 และ 6,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 3 และ 2.5 เท่าของเดือน พ.ย. 2023) ในเส้นทางระหว่างไทย-ยุโรป และไทย-สหรัฐ อย่างไรก็ดี SCB EIC ยังจับตาประเด็นดังกล่าวนี้ เนื่องจากหากปัญหาลุกลามเป็นวงกว้างและยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ SCB EIC อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์และประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้า (ระบบดุลการชำระเงิน)ของไทยปี 2567 ใหม่ และจะเผยแพร่บทวิเคราะห์ดังกล่าวในเดือน มี.ค. นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 67 คาดว่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 2.0%YoY โดยการฟื้นตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากปีก่อนหน้า นำโดยสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น อาทิ ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอกส์ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังมีปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อีกทั้ง ความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่อาจเข้ามากระทบ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของค่าเงิน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น