ก่อนหน้านี้มีรายงานวิจัยพบว่า การนั่งดูหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นจอของโทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ตหรืออื่น ๆ ล้วนมีผลกระทบโดยสามารถรบกวนวงจรการหลับของเราได้ และอาจทำให้เรามีช่วงตื่นที่ยาวนานเกินไประหว่างการนอน

เช่นนั้นแล้ว เครื่องรับโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อความบันเทิงที่มีอายุเก่าแก่กว่าโทรศัพท์มือถือ  อีกทั้งยังส่งเสียงดังรบกวนได้มากกว่า จะมีผลกระทบในแง่ลบต่อการนอนของเราหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบดูโทรทัศน์ก่อนนอน ตลอดจนพวกที่หลับคาจอโดยเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ทั้งคืน

อาริก พราเธอร์ จิตแพทย์นักบำบัดโรคนอนไม่หลับชี้ว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถหาสาเหตุแน่ชัดได้ว่าทำไมบางคนจึงสามารถนอนหลับหน้าจอโทรทัศน์ได้ แต่อีกหลายคนทำไม่ได้ คำอธิบายเวลานี้มีเพียงว่า เป็นเพราะบางคนอาจมีความรู้สึกไวต่อเสียงมากกว่าคนอื่น ๆ เท่านั้น

ด้าน มอลลี่ แอตวูด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ชี้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกรำคาญกับการเปิดโทรทัศน์เพราะมันกลายเป็นเสียงประกอบในเบื้องหลังที่ทำให้เรารู้สึกสงบจิตใจได้ง่าย หรือดึงความสนใจของเราออกจากสิ่งเร้าอื่นที่ทำให้เราต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา กระทั่งเรารู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกง่วงจนหลับได้ง่ายขึ้น

แต่คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือว่า เราควรจะดูทีวีจนหลับคาจอไปเลยหรือไม่?

ดร.มีนา ข่าน แพทย์อายุรศาสตร์การนอนหลับจากศูนย์การแพทย์เว็กซเนอร์แห่งมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ อธิบายประเด็นนี้ว่า ถ้าหากเรามีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับอยู่แล้ว การดูทีวีก่อนนอนก็อาจเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะทำให้เราเข้านอนดึกเกินไปและส่งผลกระทบต่อการนอนในคืนต่อ ๆ ไปได้อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ร่างกายของเรานั้นระบบที่ช่วยคัดกรองเสียงต่าง ๆ ในระหว่างการนอนหลับ แต่ไม่สามารถปิดกั้นเสียงได้ทั้งหมด เมื่ออยู่ใกล้ทีวีที่เปิดเสียงดัง ๆ หรือมีภาพเคลื่อนไหวหน้าจอที่วูบวาบเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของแสงสีหน้าจอเยอะ เช่น ฉากระเบิด ก็จะทำให้เราสะดุ้งตื่นได้ ซึ่งก็คือการรบกวนวงจรการหลับของเรานั่นเอง

ดังนั้น รายการที่เรารับชมจากทีวีก่อนเข้านอนจึงมีผลกระทบต่อการนอนของเราได้ ถ้าหากเราเป็นพวก “ชอบหลับคาจอ” รายการทีวีที่เร้าอารมณ์มาก ๆ มีความดราม่าสูง จะกระตุ้นให้เราตื่นตัวเพราะเรามีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งที่ปรากฏหน้าจอ ซึ่งอาจทำให้เราเครียดหรือผ่อนคลายน้อยลงจนไม่สามารถนอนหลับได้เมื่อถึงเวลา จึงควรหลีกเลี่ยงการรับชมรายการประเภทนี้ก่อนเข้านอน

ยิ่งไปกว่านั้น หากเราจำเป็นต้องเปิดทีวีทิ้งไว้ก่อนนอนจนเป็นนิสัย แสดงว่าเราอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนจนไม่สามารถนอนหลับตามธรรมชาติได้เมื่อถึงเวลา ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรให้แพทย์ช่วยแนะนำการรักษาที่ถูกต้อง

ผศ.แอตวูด ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือผลกระทบจากแสงสีต่อการนอนหลับ คลื่นแสงสีขาวหรือสีฟ้าที่เข้มข้นสามารถกดระบบในร่างกาย ไม่ให้ปลดปล่อยสารเมลาโทนิน ซึ่งช่วยทำให้ร่างกายลดการตื่นตัว รู้สึกผ่อนคลาย เพื่อจะได้หลับง่าย ดังนั้น ถ้าหากเรารับชมรายการจากแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปซึ่งหน้าจอจะอยู่ใกล้กับหน้าของเรามาก ก็เท่ากับเรารับคลื่นแสงสีขาวหรือสีฟ้าแบบเต็ม ๆ 

ผศ.แอตวูด จึงแนะนำว่า หากต้องการรับชมรายการหรือความบันเทิงก่อนนอน ควรดูจากเครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งตามปกติแล้ว จะต้องตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเรามากกว่าอุปกรณ์ประเภทแท็บเล็ต พาให้แสงสีขาวหรือแสงสีฟ้าอยู่ไกลจากเราไปด้วย

นอกจากนี้ หากเลือกได้ก็ควรใช้เครื่องรับโทรทัศน์แบบที่สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่าหลังจากที่เราผล็อยหลับหน้าจอไปแล้ว เครื่องจะปิดการทำงาน และไม่มีแสงสีหรือเสียงจากหน้าจอที่รบกวนเราระหว่างหลับ

กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเราควรจำกัดเวลาการรับชมรายการหน้าจอก่อนนอน และจัดกิจวัตรประจำวันช่วงก่อนนอนที่เน้นความผ่อนคลายเพื่อให้ร่างกายเตรียมตัวพักผ่อน จะได้ช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้นหรือลดปัญหาการนอนไม่หลับได้

ที่มา :  aol.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES