เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงความก้าวหน้าของการน้อมนำแนวพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาคนในหมู่บ้าน/ชุมชน เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2566 ภายใต้ชื่อโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566 ด้วยการอาศัย 4 กระบวนการสำคัญ คือ การร่วมพูดคุย การร่วมคิด การร่วมทำ และการร่วมรับประโยชน์ ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทางความสำเร็จอย่างยั่งยืน ที่ถอดบทเรียนมาจากโครงการพระราชดำริ 5,151 โครงการ ผ่านระบบคุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หรือหย่อมบ้าน

“ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศ ได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการยกระดับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วยการขับเคลื่อน “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ให้ครบทั้ง 75,086 หมู่บ้านทั่วประเทศ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้วยการต่อยอดแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งได้รับการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมา โดยจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs) ของหมู่บ้านยั่งยืน จำนวน 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1.ด้านที่อยู่อาศัย 2.ด้านความมั่นคงทางอาหาร 3.ด้านความสะอาด 4.ด้านความสามัคคี 5.ด้านความร่วมมือ 6.ด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 7.ด้านความมั่นคงปลอดภัย และ 8.ด้านการมีน้ำสะอาดสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” คือ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบบูรณาการ ด้วยหัวใจ ด้วย Passion ลงไปกระตุ้นปลุกเร้าสร้างพลังให้กับทีมงาน ทั้งทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล และทีมหมู่บ้าน ด้วยการพูดคุยหารือเพื่อทบทวนว่าในรอบปีที่ผ่านมาได้มีการทำงานแบบบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มีความสำเร็จ มีปัญหาอุปสรรค มีจุดอ่อนจุดแข็ง ในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยอย่างไร การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จึงจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า “เพราะคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และคนมหาดไทย จึงต้องสร้างให้เกิด 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อช่วยกันทำให้เกิด “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับ “ภาคีเครือข่ายภาคผู้นำศาสนา” ด้วยการไปกราบนมัสการขอคำปรึกษาจากเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และพระสังฆาธิการทุกระดับ โดยนำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามร่วมกับมหาเถรสมาคม 3 ฉบับ ได้แก่ 1.โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ให้ร่วมดูแลเรื่องของศาสนสถานและบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส เช่น ร่วมกันทำให้วัดมีส้วมสาธารณะ และทำให้สถานที่ต่าง ๆ ของวัดถูกสุขลักษณะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของประชาชนในชุมชน 2.โครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ โดยมีพระเถระนำผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทีมงานไปสงเคราะห์ญาติโยม ให้ได้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และส่งผลดีกับสุขภาพจิตของผู้คน คือ ทำให้คนอยู่ในศีลในธรรม และ 3. โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ด้วยการรณรงค์ให้ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ให้คนเที่ยวกลางคืน ไม่ผิดศีลธรรมของศาสนา พร้อมทั้งเชื้อเชิญผู้นำภาคศาสนาอื่น ๆ มาเป็นภาคีเครือข่าย ด้วย “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่มีนายอำเภอทุกอำเภอเป็นผู้นำในการบูรณาการระดับอำเภอ และปลัดอำเภอเป็นผู้นำการบูรณาการระดับตำบล ด้วยแนวทาง 3 ประการ คือ 1. ต้องมี “ทีมพระ” ลุกขึ้นมายืนเคียงข้าง “1 พระสังฆาธิการ 1 ภาคราชการประจำตำบล ทุกตำบล” และให้ทุกอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อพระสงฆ์พร้อมข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลภาคีเครือข่าย 2. ต้องมีการ “พูดคุย-วางแผน” ร่วมกันของพระสงฆ์ ข้าราชการ และภาคีเครือข่ายอย่างสม่ำเสมอ และ 3. ต้องลงพื้นที่จริงร่วมกันอย่างน้อย 1 พื้นที่/เดือน เพื่อทำให้มีบรรยากาศของการที่ชาวบ้านได้ร่วมกันพบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์เกิดขึ้นเต็มผืนแผ่นดินไทย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้กรมการปกครองได้ติดตามการขับเคลื่อน “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน” โดยสร้างทีมที่เป็นทั้งทีมทางการและไม่เป็นทางการไปร่วมกันทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มบ้าน ขับเคลื่อนตาม 8 ตัวชี้วัดของโครงการหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อสนองพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานแนวทาง “หมู่บ้านยั่งยืน” ให้กระทรวงมหาดไทย และสอดคล้องกับสิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ได้ลงนาม MOU ร่วมกับ UN ประจำประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา” เพื่อแสดงความมุ่งมั่นทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะข้อที่ 17 การเป็นหุ้นส่วน Partnership มีความช่วยเหลือร่วมมือกันโดยมีพระสงฆ์เป็นหลักชัย อันจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีงาม ผู้คนมีความสุขทั้งกาย และใจ มีความปลอดภัย มั่นคงทางร่างกายและจิตใจ เป็นสังคมแห่งการให้ เป็นสังคมแห่งความรัก ความเมตตา เพราะมีคณะสงฆ์เป็นที่พึ่งหลัก มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ทำให้สิ่งที่ดีงามได้กระจายความหวังของกระทรวงมหาดไทยที่อยากเห็นประชาชนทุกคนในประเทศไทยของเราได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน