เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ ‘กัน จอมพลัง’ พร้อมด้วยผู้เสียหายจากการเข้ารับบริการศัลยกรรม 3 ราย เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลเยียวยาผลกระทบจากคลินิกที่ทำหัตถการ

นายกัณฐัศว์ กล่าวว่า จากการให้การช่วยเหลือพริตตี้สาว ในการติดตามทวงถามความเป็นธรรม หลังได้รับความเสียหายจากการทำศัลยกรรม จนต้องนอนเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา วันนี้ตนจะมาติดตามความคืบหน้า และขอให้ประสานไปยังแพทยสภา เพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตของแพทย์ที่ทำหัตถการแล้ว ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะพบว่า หลังจากที่ ทำศัลยกรรมแล้วเกิดความเสียหาย ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต แต่กลับยังมีการรับทำศัลยกรรมและทำให้เกิดความเสียหายในรายอื่นๆ อีก นอกจากนี้ ยังพบว่าเป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่ปี 2565 แต่กลับยังเปิดให้บริการคลินิก ในปี 2567 กรณีเช่นนี้ ถือว่าทำได้หรือไม่ ยังสามารถประกอบวิชาชีพได้หรือไม่ จึงอยากให้มีการตรวจสอบ หากพบว่าไม่สามารถทำได้ ก็จะถือเป็นความผิดและขอให้ดำเนินการให้ถึงที่สุด

นายกัณฐัศว์ กล่าวอีกว่า เมื่อคืนวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา มีพี่น้องของตนติดต่อมา โดยแจ้งว่าทางฝั่งคู่กรณีต้องการขอเจอ ขอคุย อยากจะเอาข้อมูลมาให้กับตน ซึ่งหากเป็นการนำข้อมูลมาให้ ตนยินดีที่จะรับ แต่ต้องอยู่บนจุดเริ่มต้นที่ท่านมีหัวใจที่พร้อมจะเยียวยาผู้เสียหายก่อน แต่หากต้องการคุยกับตนเพื่อให้ตนเงียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ไม่ต้องมาคุยกับตน ตนทำหน้าที่เพื่อผู้เสียหาย ทำเพื่อผลประโยชน์ของเหยื่อ ไม่ได้มีความเกรงกลัวผู้ใด

ด้านผู้เสียหายชาย อาชีพนายแบบ กล่าวว่า ตนเข้ารับการศัลยกรรม ตัดกราม โหนกแก้ม ครั้งแรกเมื่อปี 2562 สองรอบ จำได้ว่าแพทย์ท่านนั้นทำด้วยค้อนกับสิ่ว จากนั้นมีรอยยุบลักษณะคล้ายโดนต่อย จากนั้นตนมีการติดต่อเขากลับไปสองถึงสามเดือน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดคุยหรือได้รับคำขอโทษจากแพทย์ผู้ดำเนินการ โดยทางแพทย์ยืนยันว่าทำดีแล้ว แต่ก็ต้องถามกลับว่า หากทำออกมาแล้วใบหน้ายุบเช่นนี้ เรียกว่าทำดีแล้วหรือไม่ ถ้าทำออกมาแล้วเป็นอย่างนี้ เรียกว่าทำได้ดี ถึงเอาเงินมาจ้างให้ตนไปทำด้วยก็คงไม่ทำ อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งให้ชดใช้ 1,115,490 บาท ยังไม่ได้รับแม้แต่บาทเดียว

ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า รายนี้ เข้าคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีของกรมฯ แล้ว เมื่อ 6-7 เดือนที่แล้ว เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบปรับ อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ทำหัตถการถูกแพทยสภาพักใช้ใบอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 67 จึงไม่สามารถเปิดบริการได้ เป็นระยะเวลา 2 ปี ส่วนแพทย์อีกหนึ่งคน เป็นเจ้าของหรือผู้ประกอบการ ซึ่งถูกแพทยสภาสั่งพักใช้ใบอนุญาต 3 เดือน ซึ่งครบแล้ว ขณะเดียวกันก็ทราบว่าศาลได้มีการสั่งให้ล้มละลาย ทำให้แพทย์รายนี้ไม่สามารถเปิดให้บริการคลินิกที่ไหนได้ในฐานะเจ้าของ แต่ก็ทราบว่าแพทย์ท่านนี้ไปขออนุญาตเปิดคลินิก 2 แห่ง ที่กรุงเทพฯ 1 แห่ง เพชรบุรี 1 แห่ง จากนี้จะมีการนำเรื่องเข้าคณะกรรมการสถานพยาบาล พิจารณาสั่งปิดคลินิกดังกล่าว ภายในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ การละเมิดคำสั่งเปิดคลินิกจะมีโทษตามกฎหมาย คือจำคุก 5 ปี ถือเป็นโทษหนัก โทษฐานเปิดคลินิกเถื่อน ส่วนผู้ที่ร่วมทำหัตถการ โดยเฉพาะแพทย์หากไปทำในคลินิกเถื่อน หรือคลินิกที่เราไม่อนุญาตให้เปิดก็จะถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน

เมื่อถามว่าผู้เสียหายให้ข้อมูลว่าแพทย์ผู้ดำเนินการ มีการเวียนไปให้บริการในคลินิกหลายแห่ง ลักษณะเช่นนี้สามารถทำได้หรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า หากจะไปดำเนินการที่คลินิกแห่งไหนก็จะต้องขออนุญาต ว่าจะดำเนินการที่คลินิกแห่งไหนบ้าง เพื่อให้คนไข้สามารถตรวจสอบได้ว่า จะมีแพทย์ท่านใดมาให้บริการที่คลินิกนั้นบ้าง หากไม่ยื่นก็จะมีความผิดมีบทลงโทษเช่นเดียวกัน

สำหรับคลินิกที่ทำให้พริตตี้สาว กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงนั้น เบื้องต้นทราบว่าไม่ได้มีการยื่นมา เพราะว่าเขาไม่สามารถทำได้ 2 ปีเนื่องจากแพทยสภาสั่งพักใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 จนถึง 30 มิ.ย. 2567

ทั้งนี้ กรม สบส. เปรียบเทียบคดีได้เพียงค่าปรับธรรมดา หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าเลยกว่านั้นโทษจำคุกมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ก็จะเป็นโทษในคดีอาญาเป็นโทษทางบ้านเมืองไป การทำให้พิการหรือเสียชีวิตก็เป็นคดีอาญาไป และคดีทางแพ่งผู้เสียหายก็ต้องไปฟ้องทางแพ่งว่ามีความเสียหายเท่าไหร่ มีค่าเยียวยาเท่าไหร่ เพราะเรื่องนี้มีกฎหมายเกี่ยวข้องอยู่ 3 ฉบับ ในขณะที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาลในการปรับน้อยมาก แค่ผิดมาตรฐานส่วนที่เกินจากนี้ ทางตำรวจจะเป็นผู้สั่งดำเนินคดี และขึ้นสู่ชั้นศาล ซึ่งทราบว่าคดีนี้ ศาลก็สั่งไปแล้วในคดีแพ่ง

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า สำหรับคลินิก หากจะรับแพทย์เข้ามาเป็นคู่ทำหัตถการ จะต้องมีการตรวจสอบว่าแพทย์ท่านนั้นได้รับอนุญาตจากแพทยสภาหรือไม่ เป็นแพทย์เถื่อนหรือไม่ หากรับโดยพลการโดยไม่มีการตรวจสอบ ก็จะมีความผิด ในการเอาคนที่ไม่ใช่แพทย์มาทำ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ไม่ถึงขั้นต้องปิดกิจการ แต่หากเป็นบุคคลล้มละลาย ก็จะต้องถูกปิดกิจการ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 แห่ง ก็คือที่กรุงเทพฯ 1 แห่ง เพชรบุรี 1 แห่ง

ผู้ข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ กลุ่มผู้เสียหายได้เดินทางไปเขียนหนังสือร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวที่แพทยสภาด้วย.