เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่เขต 13 กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร สปสช.ลงพื้นที่หารือและแนะแนวทางการเบิกจ่ายเงินรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งประกาศ “kick Off Health Survey” สำรวจสุขภาวะด้านสุขภาพและการคัดกรองสุขภาพ ที่ชุมชนอบอุ่นสหคลินิก (เวชกรรมและการแพทย์แผนไทย) เขตดินแดง กทม.

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่ผ่านมากติกาของ สปสช. ทำให้ไปเน้นในเรื่องการรักษาพยาบาล และเห็นชัดจากตัวเลขเงินที่จ่ายให้ระบบส่งต่อยัง รพ.ระดับสูงกว่าถึง 70% แต่งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และงบฯ ในภาพรวมส่วนนี้กลับเหลือเป็นพันล้านบาท มากกว่าเงินรักษาพยาบาล ดังนั้น เริ่มวันที่ 1 มี.ค. นอกจากจะมีการปรับการจ่ายงบฯ กลุ่มนี้ จากโมเดล 5 มาเป็นโมเดล 2 คือเหมาจ่ายรายหัว และยังปรับการจ่ายงบในหมวดส่งเสริมป้องกันโรคด้วย เพื่อให้คลินิกที่ทำงานจริงได้เงินตามที่ตนเองทำ และในวันที่ 6 มี.ค.จะเสนอแนวทางนี้ต่อคณะทำงานวิเคราะห์ข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีผู้ป่วยนอก การส่งต่อและการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเข้าอปสข.อีกครั้ง เพื่อออกประกาศหลักเกณฑ์ใหม่มีผลย้อนหลังวันที่ 1 มี.ค. 2567

เมื่อถามว่าเงินค้างจ่ายจะ Set Zero หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ประเด็นนี้จะยังไม่ทำอะไร ต้องพิสูจน์ตัวเลขก่อนว่าคืออะไร โดยจากนี้จะให้คลินิกมาร่วมตรวจด้วยว่า เงินส่งต่อถูกต้องหรือไม่ ที่ผ่านมาไม่เคยเปิดให้ตรวจสอบ ตอนนี้เราเปิดแล้ว

เมื่อถามว่าสรุป 1 มีนาคมจะยังมีโมเดล 5 กรณีส่งต่อใช่หรือไม่  นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า คำว่าโมเดล 2 หากเป็นคนในพื้นที่จะเป็นเหมาจ่ายรายหัว แต่หากคนในพื้นที่ไปรับบริการพื้นที่อื่น ก็ต้องจ่ายแบบโมเดล 5 คือ จ่ายตามรายการตามจริง ตรงนี้ยังเป็นประเด็นอยู่ว่าจะอย่างไร เพราะกรณีนี้ค่อนข้างดูดเงินไป 70% บางกรณีพบเบิกจ่ายคิดผิดหมวดผิดก้อนก็มี จึงต้องหารือกันก่อน

ด้านนางอนงค์ โรจน์กูลชัย นักจิตวิทยา ประจำคลินิกชุมชนอบอุ่นประชาสงเคราะห์ 26 กล่าวว่า คงต้องรอติดตามว่า หลังจากนี้ สปสช.จะมีการดำเนินการอย่างไร ส่วนป้ายดำที่ติดหน้าคลินิก ยังไม่มีเหตุผลที่จะเอาลง เราอยากสะท้อนให้ประชาชนทราบว่าระบบสาธารณสุขของเราเป็นแบบนี้ ไม่ได้อยากบอกว่ามีปัญหาแต่อยากให้ทราบว่าเป็นแบบนี้.