“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ยังไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการลงทุนในการเดินรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแนวทางจะเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เพื่อให้เดินรถต่อเนื่องตลอดทั้งสาย ตามผลการศึกษา และวิเคราะห์โครงการฯ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) ที่ระบุว่า การเดินรถต่อเนื่องเป็นเส้นทางเดียวกันทั้งสายสีม่วงใต้ และสายสีม่วงเหนือที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เป็นรูปแบบการเดินรถไฟฟ้าที่เหมาะสมที่สุด

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า แนวทางที่ สคร. และ สศช. ต้องการให้ รฟม. ดำเนินการคือ การเปิดประกวดราคา (ประมูล) การเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) เท่านั้น ขณะที่ รฟม. มองว่าการเปิดประมูล นอกจากผู้เดินรถรายปัจจุบัน ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะได้เปรียบกว่าผู้ร่วมประมูลรายอื่นแล้ว ยังอาจจะทำให้มีปัญหาหลายประเด็นตามมา อาทิ ผู้เดินรถรายที่ 2 ต้องเดินรถเข้าไปยังสายสีม่วง (เหนือ) ด้วยเพราะศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) มีที่เดียวอยู่ที่บริเวณบางใหญ่ ส่วนที่บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางครุ 3 ของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) นั้น เป็นแค่ลานจอดรถไฟฟ้า จึงต้องใช้ศูนย์ซ่อมบำรุง และทางวิ่งร่วมกัน ซึ่งการใช้ร่วมกันก็ต้องมาพิจารณาอีกว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะเดียวกันการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า เช่น ระบบอาณัติสัญญาณ ประตูชานชลาและอื่นๆ ของผู้เดินรถรายที่ 2 ต้องสอดคล้องกับระบบอาณัติสัญญาณในการเดินรถของสายสีม่วง (เหนือ) ด้วย เพราะหากระบบไม่เหมือนกันจะเกิดปัญหาในการเดินรถไฟฟ้าได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว หากมีการกำหนดลงไปในรายละเอียดการประมูล (TOR) ก็อาจเกิดเรื่องการร้องเรียนว่าล็อกสเปกอีก อย่างไรก็ตาม เรื่องรูปแบบการลงทุนในการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ควรต้องได้ข้อสรุป และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปี 67 และเริ่มดำเนินการภายในปี 68 เพราะหากล่าช้าไปจากนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเปิดให้บริการ ซึ่ง รฟม. มีแผนก่อสร้างงานโยธาสายสีม่วงแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปลายปี 71

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2559 มี BEM เป็นผู้รับจ้างเดินรถ และติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ลงนามสัญญากับ รฟม. เมื่อปี 2556 สัมปทาน 30 ปี หมดอายุสัมปทานในปี 2586 ซึ่งตามผลการศึกษาฯ ของ รฟม. หากเจรจากับเอกชนรายเดิมจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม และคุ้มค่ามากที่สุดและการเดินรถไฟฟ้าต่อเนื่อง จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระบบทั้งสายสีม่วงเหนือและม่วงใต้ อีกทั้งยังทำให้สามารถคุมต้นทุนได้มากกว่าการมีเอกชนเดินรถ 2 ราย ซึ่งเมื่อต้นทุนไม่สูง ก็จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงด้วย ทั้งนี้ รูปแบบการเดินรถต่อเนื่องรายเดียว จะเป็นในลักษณะเดียวกับการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือสายสีเขียว ที่ทำให้ผู้โดยสารเดินทางต่อระบบกับส่วนต่อขยายได้อย่างสะดวกสบาย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีระยะทาง 23.63 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้าง 6 สัญญา มีความคืบหน้า 26.26% โดยสัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ คืบหน้า 34.08%, สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า คืบหน้า 32.28%, สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ คืบหน้า 24.13%, สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพระพุทธ-ดาวคะนอง คืบหน้า 26.46%, สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) คืบหน้า 12.49% และสัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ คืบหน้า 12.57%.