นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมเพื่อหารือถึงเรื่องการรักษาวงโคจรดาวเทียม ในตำแหน่งวงโคจร 50.5 และ 142 องศาตะวันออก ที่ได้จองสิทธิการใช้วงโคจรจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) หลังจากการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม  ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ครั้งแรกตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ที่ผ่านมา ยังประมูลไม่ออก ไม่มีเอกชนรายใดสนใจ

“ตำแหน่งสองวงโคจรที่ยังประมูลไม่ออก เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งแถบทะเลแคริบเบียน และตะวันออกกลาง  พื้นที่ให้บริการไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ทำให้การหาลูกค้าทำได้ยาก และคู่แข่งต่างประเทศมีหลายราย จึงยังไม่มีเอกชนสนใจประมูลไปทำธุรกิจ ซึ่งได้ให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐที่กำหนดนโยบาย และ กสทช. ซึ่งเป็นผู้จัดประมูล และให้ใบอนุญาตไปว่า ให้พยายามดำเนินการให้ถึงที่สุดก่อน ทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล หรือจะสามารถจะมีวิธีที่จูงใจเอกชนให้สนใจเข้าร่วมประมูลให้ได้ เพื่อรักษาวงโคจรดังกล่าวของไทยไว้ไม่ให้ถูกไอทียู เรียกคืน”

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าถึงที่สุดแล้วหากยังไม่มีผู้สนใจหรือประมูลไม่ออก แล้วถูกไอทียู เรียกคืนวงโคจร ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมอย่างละเอียดว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำอย่างเต็มที่ และได้เปิดประมูลแล้ว และราคาก็ไม่ได้แพงเหมือนในอดีต แต่ก็ยังไม่มีเอกชนสนใจ อย่างไรก็ตามได้รับทราบมาว่าภายในปีนี้ทาง กสทช. จะเปิดให้มีการประมูลดาวเทียมสองวงโคจรนี้อีกครั้ง โดยได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคุณสมบัติเพื่อจูงใจ ให้เอกชนสนใจเข้าร่วมประมูลมากขึ้น ซึ่งต้องรอดู แต่ทางดีอีจะมีการหารือเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้อย่างดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  คณะอนุกรรมการด้านกิจการดาวเทียม  ของสำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุม และได้พิจารณาการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (แพ็กเกจ) ในสองวงโคจรที่ยังประมูลไม่ออกไป เมื่อกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ อาทิ  ยังคงใช้วิธีการประมูล โดยมีราคาขั้นต้นที่ปรับในส่วนของราคาโอกาสในการทำธุรกิจออก ให้เหลือเฉพาะต้นทุนที่รัฐได้ใช้ไปในการได้ข่ายงานดังกล่าว และมีการเสนอทางเลือกที่ 1 คือ การใช้ราคารูปแบบเคาะราคาเช่นเดิม 

หรือ ทางเลือกที่ 2 คือ การเสนออัตราผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5% เป็นต้น โดยทาง สำนักงาน กสทช. จะนำร่างประกาศฯ ที่ได้ปรับปรุงนี้ นำเสนอต่อที่ประชุม บอร์ด กสทช.ในเร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบอนุมัติต่อไป เพื่อให้สามารถจัดประมูลใบอนุญาตดาวเทียมทั้งสองวงโคจรที่เหลือให้ได้ภายในปีนี้.