วันที่ 5 มี.ค. น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 35.78-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันนี้ (09.50 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.82 บาทต่อดอลลาร์ โดยแม้เงินบาทจะขยับแข็งค่าขึ้น แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดในระหว่างวันสอดคล้องกับสัญญาณชะลอตัวของฟันด์โฟลว์ในตลาดพันธบัตร และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆในเอเชียในช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่ ค่าเงินหยวนยังค่อนข้างทรงตัว หลังจากที่ทางการจีนประกาศเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสำหรับปีนี้ไว้ที่ 5%

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ เบื้องต้นคาดไว้ที่ 35.68-35.88 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือน ก.พ. ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ การเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค สัญญาณจากที่ประชุม 2 สภาประจำปีของจีน ตัวเลขยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ม.ค. ของสหรัฐ รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.พ.ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และสหรัฐ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.73-35.87 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ที่ทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำนั้นได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนที่ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐ กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส และรอลุ้นผลการเลือกตั้งขั้นต้น (Primaries) ในหลายรัฐ (Super Tuesday) เพื่อหาตัวแทนพรรครีพับลิกันในการท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งใหญ่ปีนี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะ ยอดการจ้างงาน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.12%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.03% ตามแรงขายทำกำไร หลังดัชนี STOXX600 ได้ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้า ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ที่ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง นำโดย ASML +2.2%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 4.20% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ การแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่รีบปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน อนึ่ง เราประเมินว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ สะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น ยอดการจ้างงานออกมาแย่กว่าคาด อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อมั่นว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ตาม Dot Plot ล่าสุด

ทำให้ การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ เช่น ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% อาจเกิดขึ้นได้ยาก และถ้าจะเกิดขึ้นได้นั้นอาจต้องอาศัยมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย ดังนั้น Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยเงินดอลลาร์เผชิญกดดันอยู่บ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) นั้นออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดก็อาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์มากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ และถ้อยแถลงของประธานเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.7-104 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ กอปรกับแรงซื้อตามโมเมนตัมของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2,120 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำจุดสูงสุดใหม่ของปีนี้ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) เดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปของเฟด และรอลุ้นผลการเลือกตั้งขั้นต้น (Primaries) ในหลายรัฐ หรือ ที่เรียกว่า Super Tuesday เพื่อหาตัวแทนพรรครีพับลิกันในการท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนี้

ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ -0.70% (ตลาดคาด -0.80%) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ที่ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหารสด อาจอยู่ที่ระดับ 0.50% ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down อย่างไรก็ดี การปรับตัวแข็งค่าสู่โซนแนวรับ 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ รวมถึงสกุลเงินต่างประเทศอย่างเงินเยนญี่ปุ่น JPY (ที่ช่วงนี้ได้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาทพอสมควร) ส่งผลให้ การปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดได้

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะ ดัชนี ISM ภาคการบริการ เพราะหากออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มลังเลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หรือ ไม่ หรือ ผู้เล่นในตลาดอาจมองว่า เฟดจะเลื่อนการลดดอกเบี้ยไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น และกดดันให้ ราคาทองคำที่เพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ ปรับตัวลงแรงได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินบาทก็จะยิ่งเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการปรับฐานของราคาทองคำ จนมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง