ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อเปิดให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ สร้างประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างเหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของผู้ฝากเงินหรือผู้ใช้บริการในวงกว้าง

ไทม์ไลน์การเปิดรับสมัครและคัดเลือกธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ (Virtual Bank)

  • 19 มีนาคม 2567 : แบงก์ชาติ จัดประชุมชี้แจงแก่ผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาต (ลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ ธปท. ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2567)
  • 20 มีนาคม 2567 : เปิดรับสมัคร
  • 19 กันยายน 2567 : ปิดรับสมัคร (หลังจากนั้น แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังคัดเลือก)
  • ภายในเดือน มิถุนายน 2568 : ประกาศรายชื่อ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก
  • ภายในเดือน มิถุนายน 2569 : ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา Virtual Bank เริ่มให้บริการ

ทางด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาคำขออนุญาต โดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ตามรูปแบบและแผนที่เสนอมา รายละเอียด ดังนี้

1.ประสบการณ์ ทรัพยากร และความสามารถในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank โดยนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น

2.ธรรมาภิบาลและความสามารถของผู้ขออนุญาตและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน Virtual Bank

3.ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความสามารถในการประกอบธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล

4.ความสามารถในการใช้และบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการพัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบสนองต่อสถานการณ์หรือความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างคล่องตัว

5.ประสบการณ์และความสามารถในการได้มา เข้าถึง บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงการพัฒนาระบบหรือส่วนเชื่อมต่อข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้สามารถนำข้อมูลของตนไปใช้ในการทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการรายอื่นภายใต้สิทธิตามกฎหมาย

6.ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงิน

7.ความสามารถในการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank อย่างต่อเนื่องของผู้ถือหุ้นสำคัญ

นอกจากนี้ ธปท. จะคำนึงถึงการมีธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่มีศักยภาพและความสามารถในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 5 มี.ค.67)