วันที่ 6 มี.ค. นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันนี้ว่า กกร.ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ที่ 2.8-3.3% แต่เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะจากการส่งออกที่ฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 2-3% การท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้าสู่ระดับเดิม ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดอยู่ที่ 0.7-1.2%

อย่างไรก็ตาม หากจะให้การส่งออกขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 2-3% ภาคการส่งออกจะต้องเร่งการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยในแต่ละเดือนที่เหลือจะต้องมีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่า 24,000 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการส่งออกจะต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆ หาตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อหนุนการส่งออก

“แม้ภาคการส่งออกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ แต่คาดว่าทั้งปีมูลค่าการส่งออกยังเติบโตอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำ สำหรับการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 เนื่องจากชาวจีนหันไปท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก แต่หลังจากที่มีมาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยว 34-35 ล้านคนได้ ด้านหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงขอให้ภาครัฐบาลเร่งหามาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนมากขึ้น”

ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/67 จากปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ปรับเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นตัวช่วยประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง และหนุนการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

สำหรับมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 19 มี.ค. นี้ มองว่า หากมีความเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลต่อมาตรการดังกล่าวออกไป แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยอมรับเป็นการสร้างภาระ และส่งผลต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ดังนั้นต้องให้ภาครัฐพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรเงิน

“ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากมาตรการภาครัฐที่มาพยุง แต่สร้างภาระ แต่มาตรการนี้มีเวลา หวังว่าภาครัฐจะต้องมีการพิจารณา เพราะต้องดูจากสภาพเศรษฐกิจ ที่ความเปราะบาง กำลังซื้อยังแย่ หนี้ภาคครัวเรือนที่แตะ 90.9% แม้ภาครัฐจะเข้ามาแก้ แต่ก็ยังเพิ่งเริ่ม ดังนั้นภาคเอกชน มองว่า ภาครัฐคงต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้เปราะบางโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เครดิตบูโรที่รายงานการผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ การเข้าถึงสินเชื่อมีความเข้มงวดและระมัดระวัง เป็นสิ่งที่รัฐจะต้องช่วย ทำอย่างไรให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน ต่อไปในอนาคต ภาครัฐควรนำไปพิจารณาต่อ”

ขณะเดียวกัน กกร.ยังมีข้อเสนอแนะในการประชุมครั้งนี้ โดยได้เสนอแนะให้จัดทำร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เนื่องจากปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศมีความรุนแรง จึงเสนอให้มีผู้แทนภาคเอกชน 4 ท่านเท่ากับภาคประชาชนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการขับเคลื่อน 3 คณะ ภายใต้ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้จะต้องบูรณาการการกำกับดูแล ด้านมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ดัชนีคุณภาพอากาศและมาตรการควบคุมต่างๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ทบทวนการวางหลักประกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในการขออนุญาตประกอบกิจการ โดยควรนำเอาระบบการซื้อประกันภัยมาใช้ทดแทนในกรณีที่เกิดความเสียหาย รวมถึงปรับบทลงโทษผู้กระทำความผิดให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม และต้องทบทวนการปรับปรุงเงื่อนไขและข้อจำกัดการใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถนำงบประมาณมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และศึกษาความเหมาะสมและรายละเอียดในร่างพ.ร.บ.โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. ยังมีความกังวลถึงเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผักและผลไม้ที่นำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ โดยในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา มีการนำเข้าสินค้ามาอยู่ที่ 13,275 ล้านบาท ขยายตัว 8.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการที่ผักและผลไม้นำเข้าเพิ่ม ส่งผลให้ภาครัฐต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพเพิ่มขึ้น จึงอยากเสนอให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รัดกุมในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าผักและผลไม้ รวมถึงเพิ่มกำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศ