น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์  เปิดเผยหลังประชุมบอร์ด กสทช. ถึง กรณีผลสำรวจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เรื่องการควบรวมกิจการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ว่า ที่ประชุมบอร์ด ได้เร่งให้ สำนักงาน กสทช. ทำรายงานความคืบหน้ามาตรการกำกับดูแลกิจการหลังควบรวมทรู-ดีแทค ส่งให้บอร์ด ภายใน 7 วัน เพื่อชี้แจงเรื่องคุณภาพการให้บริการ ราคาและแพ็กเกจที่ละเอียดมากกกว่าการเฉลี่ยราคา ชี้ให้เห็นว่าค่าบริการพื้นฐานในปัจจุบันถูกหรือแพง เพื่อบอร์ดจะได้นำข้อมูลมาพิจารณา และรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงแก่สาธารณชนต่อไป

พิรงรอง รามสูต

ด้านนายศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องการวัดค่าเรื่องราคาค่าบริการยังมีความซับซ้อน จากบริบทการให้บริการที่หลอมรวมหลายบริการ นอกจากนี้แต่ละหน่วยงานก็มีตัวเลขที่ชี้วัดเฉพาะของตน และข้อร้องเรียนเรื่องราคาจากที่ได้รับร้องเรียนยังไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ชี้วัด ซึ่งขณะนี้การสร้างดัชนีโทรคมนาคม โดยฝ่ายวิชาการของ กสทช. ได้ออกแบบระเบียบวิธีเสร็จสิ้นแล้ว เหลือแต่เพียงการประสานทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สศช., ภาคเอกชน และส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ยอมรับระเบียบวิธี และใช้ตัวเลขเดียวกันชี้วัดราคาโทรคมนาคม

“ดัชนีโทรคมนาคมของ กสทช. จะจัดทำเสร็จสิ้นในไตรมาส 2 ปีนี้ เครื่องมือนี้ เมื่อใส่ตัวเลขและประเมินสภาพตลาด จะสามารถตอบ ตอบคำถามเรื่องราคาได้” นายศุภัช กล่าว

ศุภัช ศุภชลาศัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ทาง สศช. ได้มีการแถลงข้อมูลภาวะสังคมไตรมาสที่ 4 ปี 2566 และภาพรวมปี 2566 มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดโทรคมนาคม ทั้งนี้ จากข้อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับพบว่าภายหลังการควบรวมกิจการค่าบริการรายเดือนของโทรศัพท์มือถือปรับตัวเพิ่มขึ้น และบางโปรโมชั่นยังถูกลดนาทีค่าโทรฯ ลง เช่น แพ็กเกจราคา 349 บาท ปรับราคาขึ้นเป็น 399 บาท พร้อมทั้งมีการลดปริมาณและความเร็วอินเทอร์เน็ตลง, แพ็กเกจราคา 499 และ 599 บาท ถูกลดนาทีค่าโทรฯ ลงจาก 300 นาที เหลือ 250 นาที อีกทั้งผู้บริโภคยังเริ่มประสบปัญหาด้านคุณภาพสัญญาณมากขึ้น

นอกจากนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายมือถือทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 81% พบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเครือข่ายของบริษัทที่มีการควบรวมพบมากที่สุด คือ ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า รองลงมาเป็นปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตหลุดบ่อย เป็นต้น

โดย 91% ของผู้ได้รับผลกระทบเคยร้องเรียนไปยังคอลเซ็นเตอร์ของเครือข่ายที่ใช้บริการแล้วแต่ยังพบปัญหาอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงาน กสทช. จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการควบรวม เช่น การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12% เพื่อควบคุมราคาค่าบริการแต่จากสถานการณ์ข้างต้น แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้เท่าที่ควร ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรีย ได้กำหนดเงื่อนไขการควบรวมธุรกิจ T-Mobile และ tele.ring ในปี 2006 ให้ผู้ควบรวมต้องขายคลื่นความถี่และเสาสัญญาณบางส่วนให้กับผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการรายเล็กมีโครงข่ายที่แข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราค่าบริการไม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้คุณภาพสัญญาณดีขึ้นและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม จึงควรมีการทบทวน/เพิ่มเติมแนวทางการกำกับดูแลที่ชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น อาทิ การกำหนดเพดาน/ควบคุมราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ยให้เหมาะสม ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่อย่างจริงจัง