สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ว่า การพิจารณาคดีของดับเบิลยูทีโอ ใช้เวลานาน 3 ปี หลังมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากอินโดนีเซีย ยื่นคดีความต่อดับเบิลยูทีโอ เมื่อปี 2564

อนึ่ง รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ คัดค้านชุดมาตรการของอียู ซึ่งจำกัดสิทธิของเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชผล ในการเป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศสมาชิกอียู รวมถึง มาตรการยุติการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันปาล์มอย่างสิ้นเชิง ภายในปี 2573

นอกจากนี้ มาเลเซียยังร้องขอต่อคณะอนุญาโตตุลาการ กล่าวหาว่า อียู โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิกอย่างฝรั่งเศส และลิทัวเนีย กำหนดมาตรการจำกัดการใช้น้ำมันปาล์ม ในลักษณะที่ละเมิดข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการของดับเบิลยูทีโอ มีคำตัดสิน และเผยแพร่รายงานข้อพิพาท 348 หน้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบพลังงานหมุนเวียนแห่งสหภาพยุโรป ปี 2561 หรือ RED II ระบุว่า มาตรการของอียู ไม่มีการละเมิดข้อตกลงตามที่มาเลเซียกล่าวหาเป็นอย่างใด แต่องค์การก็ระบุถึงจุกบกพร่องบางประการในการจัดเตรียม การเผยแพร่ และการจัดการมาตรการของอียูเช่นกัน

“มาเลเซียไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มาตรการบางอย่างที่นำมาใช้ภายใต้ RED II ไม่สอดคล้องกับพันธกรณี เพื่อทำให้แน่ใจว่า กฎระเบียบทางเทคนิคจะไม่ถูกจำกัดทางการค้ามากเกินความจำเป็น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย” คณะกรรมการของดับเบิลยูทีโอ กล่าวสรุป.

เครดิตภาพ : AFP