เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 โดยหนึ่งในนั้นมีการกำหนดปริมาณการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ยาไอซ์ไม่เกิน 100 mg เป็นการครอบครองเพื่อเสพ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ป่วย เป็นต้น โดยมี พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ตนมาในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เห็นว่ากฎกระทรวงนี้เป็นผลร้ายต่อประชาชนมากกว่าผลดี เพราะเป็นการเปิดช่องให้เกิดผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากขึ้น จำนวนคนเสพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อสังคม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดวางหลักไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ครอบครองยาเสพติดจะต้องได้รับโทษ ส่วนคนเสพก็เข้าสู่กระบวนการบำบัด แต่ทว่ากฎกระทรวงนี้เปิดช่องให้ผู้ครอบครองยาเสพติด 5 เม็ดเป็นผู้เสพ ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด

นอกจากนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเรียกรับเงินจากผู้กระทำความผิด ครอบครองยาเสพติด ให้สามารถปรับข้อหาสถานหนักให้กลายเป็นสถานเบาได้ เมื่อกฎหมายเปิดช่องเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้น ผู้ติดยาเพิ่มมากขึ้น ยาเสพติดถูกนำเข้ามามากขึ้น และส่งผลให้อาชญากรรมเกิดมากขึ้น

ดังนั้น จึงถือว่ากฎกระทรวงดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกทั้งขัดต่อกฎหมายอื่น ๆ ได้แก่ ประมวลกฎหมายยาเสพติด วันนี้ตนจึงมายื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบเรื่องนี้ก่อนพิจารณาส่งศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนเป็นอดีตนายตำรวจ การลดอาชญากรรมและปัญหายาเสพติดที่ถูกต้อง คือต้องลดจำนวนผู้เสพลง ไม่ใช่เพิ่มจำนวนยาที่ทำให้ถูกกฎหมาย กฎกระทรวงฉบับนี้ไม่ก่อประโยชน์อันใดแก่ประชาชน เพราะถึงขนาดทำให้เฮโรอีน ซึ่งถือเป็นยาเสพติดร้ายแรงและไม่สามารถบำบัดได้ ต้องมาพิจารณาว่า หากครอบครองไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เสพนั้น ตนมองว่า ยาเสพติดต่อให้เข้าสู่ร่างกายก็ถือว่าเป็นผู้เสพแล้ว จะมากำหนดจำนวนทำไม อีกทั้งผลงานวิจัยที่บอกว่า หากเสพเกิน 5 เม็ดขึ้นไป จะทำให้ผู้เสพเกิดอาการคลุ้มคลั่งนั้น ตนมองว่านี่เป็นเรื่องในเชิงวิชาการ แต่ในความเป็นจริงนั้น มันไม่มีใครที่เสพเกินห้าเม็ดทีเดียว มีแต่เสพวันละเม็ดสะสมไปเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง จะมาพูดจาสวยหรูว่า มียาเสพติดเม็ดเดียวถือว่าจำหน่าย มันไม่ใช่ มียาเสพติดแค่เสี้ยวเดียวก็ถือว่าจำหน่ายได้ ต้องไปดูกฎหมายให้ชัดว่า แค่การแจกจ่ายก็ถือว่าเป็นการจำหน่าย

จึงถือได้ว่ากฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเลย การที่ให้เหตุผลเพียงแค่ว่า มีกฎกระทรวงฉบับนี้เพื่อลดปริมาณคนล้นคุกนั้น ตนมองว่ายิ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะกลายเป็นการปล่อยให้คนเสพยาหลุดออกมาใช้ชีวิตในสังคม ก็ทำให้อาชญากรรมพุ่งขึ้น ตอนนี้ สถานีตำรวจแต่ละแห่ง ต้องควบคุมคนคลุ้มคลั่ง 4-5 รายต่อวัน และสิ่งที่น่าสงสัยก็คือ ถ้ามีนโยบายนำผู้เสพไปบำบัด แล้วทางรัฐบาลมีข้อมูลตัวเลขไหมว่าสามารถบำบัดผู้เสพยาเสพติดไปแล้วเท่าไหร่ และศูนย์บำบัดยาเสพติดอยู่ที่ไหน ดังนั้นตนยืนยันว่า จะต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด

ด้าน พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า จะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา โดยถือว่าประเด็นหลักของเรื่องนี้คือ การขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ซึ่งการยกเลิกกฎกระทรวงนั้นสามารถทำได้ 2 วิธีคือ หากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วพบว่า กฎกระทรวงดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อกฎหมายอื่น ๆ ก็จะส่งเรื่องให้ศาลปกครองดำเนินการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว อีกวิธีการหนึ่งคือ หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า กฎกระทรวงฉบับนี้ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็จะเป็นอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่สามารถวินิจฉัยยกเลิกกฎหมายได้

โดยหลังจากนี้ ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้ก็คือกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงภายใน 30 วัน หากข้อมูลเพียงพอต่อการวินิจฉัย ผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถวินิจฉัยได้ทันที แต่ถ้าหากข้อมูลยังไม่เพียงพอ อาจจะมีการขอความเห็นจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ป.ป.ส. ในประเด็นเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐหรือในความเห็นอื่น ๆ เพิ่มเติมมาประกอบการวินิจฉัยต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสร็จ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้กล่าวท้าทายไปยัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎนี้ให้มาด้วยตัวเองหรือส่งตัวแทนของกระทรวง ร่วมลงพื้นที่ชุมชนไปพร้อมกับตัวแทนของตนเอง เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับนโยบายยาบ้า 5 เม็ด ว่าประชาชนคิดเห็นเป็นเช่นไร โดยให้สื่อมวลชนไปร่วมทำข่าวและเป็นผู้เลือกสถานที่สำรวจ เพื่อที่จะได้ยืนยันว่า ไม่มีฝ่ายใดเตรียมการไว้ก่อน

ส่วนที่ถูกตั้งคำถามว่า เหตุใดถึงไม่มีการเข้าไปพูดคุยกับ นพ.ชลน่าน ที่กระทรวงสาธารณสุข พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ตนไม่ได้มีอำนาจอะไร ขอเป็นประชาชนคนหนึ่งที่จะทำหน้าที่กระบอกเสียงในการดำเนินการเรื่องนี้ ขณะนี้ตนเองก็กำลังหาช่องทางที่จะปรึกษา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการถอดถอน นพ.ชลน่าน จากตำแหน่งรัฐมนตรี.