สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ว่า ภายใต้กฎหมายซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 คู่รักชาวญี่ปุ่นที่แต่งงานแล้ว ต้องเลือกใช้นามสกุลของสามี หรือภรรยา อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทีมทนายความของฝ่ายโจทก์กล่าวว่า คู่รักในประเทศประมาณ 95% เลือกใช้นามสกุลของฝ่ายชาย

ด้านกลุ่มนักรณรงค์กล่าวว่า การเปลี่ยนนามสกุล ทำให้เกิดความลำบาก และความยุ่งยากซับซ้อนในระบบราชการ ตั้งแต่หนังสือเดินทาง ไปจนถึงบัญชีธนาคาร ตลอดจนสร้างปัญหาให้กับผู้หญิงซึ่งมีอาชีพที่มั่นคง และถ้าคู่รักไม่แต่งงาน มันก็จะส่งผลกระทบต่อสิทธิหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิที่ได้รับจากการมีบุตร, มรดก และภาษี

แม้โจทก์คนหนึ่ง วัย 50 ปี กล่าวว่า เธอและคู่ครอง อาศัยอยู่ด้วยกันมานาน 17 ปี และเลี้ยงดูบุตรสาว 1 คน โดยไม่แต่งงาน ซึ่งทั้งสองคนเกลียดแนวคิดของการเปลี่ยนนามสกุล แต่ไม่ได้บังคับอีกฝ่ายให้เปลี่ยนชื่อแต่อย่างใด แต่ความจริงที่ว่า ทั้งคู่ไม่ใช่สามีภรรยาตามกฎหมาย อาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การไม่สามารถเป็นทายาทตามกฎหมาย, การไม่สามารถให้ความยินยอมในการผ่าตัด หรือการเสียผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายภาษี

อนึ่ง คำฟ้องดังกล่าวต้องการการบ่งชี้ถึงความล้มเหลวรัฐบาลในการแก้ไขกฎหมาย พร้อมกับเรียกร้องค่าชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 เยน (ราว 120,000 บาท) ต่อโจทก์ 1 คน

ทั้งนี้ ศาลฎีกาของญี่ปุ่น มีคำพิพากษา 2 ครั้ง ในปี 2558 และปี 2564 ว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ศาลก็เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่ยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองกับความต้องการใช้คนละนามสกุล ซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับปัจจุบัน กล่าวว่า การมีนามสกุลเดียว เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว และการพยายามเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบข้างต้น ถือเป็นการโจมตีค่านิยมดั้งเดิม.

เครดิตภาพ : AFP