สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ประธานสมัชชามหาคณิสสร เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กล่าวในการเป็นประธาน เปิดการฝึกซ้อมอบรมพระสังฆาธิการ เพื่อสอบความรู้แต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ รุ่นที่ 57 ครั้งที่ 1 จำนวน 338 รูป เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่วัดสามพระยา ว่า พระอุปัชฌาย์เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ โดยในจริยาพระอุปัชฌาย์นั้นระบุว่า ต้องเอื้อเฟื้อ สังวร ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และกฎหมายอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎ มส. ตามคำสั่งหรือคำแนะนำชี้แจงของผู้บังคับบัญชา ที่สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎ มส. และต้องระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง ซึ่งในทางพระธรรมวินัย พระอุปัชฌาย์ถือว่ามีความสำคัญ เพราะต้องมีหน้าที่กลั่นกรองกุลบุตรผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน เข้ามาเป็นสมาชิกในหมู่สงฆ์ ต้องเป็นประธานและรับผิดชอบในการบรรพชาอุปสมบท ทั้งต้องปกครอง ดูแล อบรม สั่งสอน สัทธิวิหาริก (คำเรียกผู้ที่ได้รับการบวชจากพระอุปัชฌาย์ใครเคยบวชจากพระอุปัชฌาย์รูปใดก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์นั้น) ให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ต้องขวนขวายให้ได้รับการศึกษาตามพระธรรมวินัย ซึ่งถือเป็นภาระ ธุระของพระอุปัชฌาย์ โดยสัทธิวิหาริกที่พรรษายังไม่พ้น 5 หากจะไปอยู่ที่ใด พระอุปัชฌาย์ต้องมีหน้าที่คอยติดตามด้วย

สมเด็จพระพุฒาจารย์ กล่าวต่อไปว่า ในที่นี้จะขอพูดถึงหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ และสัทธิวิหาริก ตามวินัยมุข ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เกิดจากความเคารพซึ่งกันและกัน โดยหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ต่อสัทธิวิหาริก เรียกว่า สัทธิวิหาริกวัตร มีอยู่ 4 ข้อ 1.มุ่งการศึกษาของสัทธิวิหาริก 2.สงเคราะห์สัทธิวิหาริกด้วยสมณบริขาร 3.ป้องกันความเสื่อมเสียที่จะพึงเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วแก่สัทธิวิหาริก 4.ให้การรักษาพยาบาลเมื่อสัทธิวิหาริกเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนหน้าที่ของสัทธิวิหาริอ ต่อพระอุปัชฌาย์ เรียกว่า อุปัชฌายวัตร มี 7 ข้อ 1.อุปัฏฐากรับใช้พระอุปัชฌาย์ 2.มุ่งการศึกษา 3.ป้องกันความเสื่อมเสียที่จะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วกับพระอุปัชฌาย์ 4.รักษาน้ำใจของพระอุปัชฌาย์ 5.มีความเคารพต่อท่าน 6.ไปไหนมาไหนบอกกล่าวท่าน 7.เมื่อพระอุปัชฌาย์เจ็บไข้ ต้องรักษาพยาบาล ทั้งนี้ เมื่อปฏิบัติต่อกันดังกล่าวจะเกิดความผูกพันกัน นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตให้พระอุปัชฌาย์ สามารถขับไล่สัทธิวิหาริก ที่ไม่มีความเลื่อมใส ไม่มีความละอาย ไม่มีความเคารพ และพระอุปัชฌาย์สามารถประณามสัทธิวิหาริกได้

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) กรรมการ มส. ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม บรรยายพิเศษว่า สำหรับพระอุปัชฌาย์ที่เป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศนั้น ในการจะดำเนินการบรรพชาอุปสมบทในต่างประเทศนั้น จะต้องทำให้ถูกกฎหมายในแต่ละประเทศ และถูกต้องตามพระธรรมวินัยด้วย ไม่ควรให้การบรรพชาอุปสมบทนอกเขตของตนเองที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศนั้นๆ เพราะในแต่ละประเทศ ทางสมัชชาสงฆ์ไทยจะมีการแบ่งเขตในการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ถ้าให้การบรรพชาอุปสมบทนอกเขต ต้องขออนุญาตจากสมัชชาสงฆ์ไทยในประเทศนั้นก่อน และพระอุปัชฌาย์ในต่างประเทศ เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว ไม่ควรมาให้การบรรพชาอุปสมบทในประเทศไทย เพราะจะเกิดปัญหา แม้จะได้รับการนิมนต์ให้กลับมาทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ในไทย ก็ไม่ควรรับ ต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย