เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังสภา กทม. มีมติเห็นชอบให้ กทม.จ่ายหนี้ให้บีทีเอส ในงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกลหรือ E&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ในวาระ 3 เรียบร้อยแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 12 มี.ค.67 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ระบุว่า โดยที่กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องจ่าย รายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 กรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร จึงตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567”  ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ข้อ 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567 ให้ตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษจำนวน 23,488,692,200 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนก ดังนี้  งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ  : สำนักการจราจรและขนส่ง รวม 23,488,692,200 บาท, งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐาน 23,488,692,200 บาท ผลผลิตระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ 23,488,692,200 บาท

ข้อ 4 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควบคุมการใช้จ่ายเงินและการบริหารงบประมาณตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้  ข้อ 5 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้

ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ เป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อกำหนดกรอบวงเงินในการจ่ายหนี้ ไม่เกินวงเงินที่กำหนดอยู่ในข้อบัญญัติฯ รวมถึง กำหนดให้สามารถเริ่มจ่ายเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.67 เป็นต้นไป หลังจากนี้ คณะกรรมการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 จะทำการพิจารณาจำนวนเงินทั้งหมดที่จะต้องจ่าย วิธีการชำระและกำหนดวันชำระเงินอีกครั้ง.