สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ว่า ชาวบ้านจำนวนมากถูกจับกุม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ตำรวจภูธร และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทำการขับไล่ผู้คนออกจากที่ดิน ในจังหวัดพระวิหาร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา

นายออม ซัม อาด ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของกลุ่มสันนิบาตกัมพูชาเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือ “ลิคาโด” (LICADHO) กล่าวว่า ชาวกัมพูชา 29 คน รวมถึงผู้หญิง 12 คน ถูกศาลตั้งข้อหาถางป่า และปิดล้อมพื้นที่เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์ โดยในจำนวนนี้ 25 คน ถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี ส่วนอีก 4 คน ได้รับการประกันตัว ซึ่งหากพบว่ามีความผิด พวกเขาจะต้องรับโทษจำคุกระหว่าง 1-5 ปี

“ข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล” นายออม ซัม อาดกล่าวเพิ่มเติม พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชา เร่งกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง

ด้านลิคาโด ระบุเสริมว่า ที่ดินซึ่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ถูกมอบให้บริษัทเอกชนเพื่อการให้สัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจ (อีแอลซี) เมื่อปี 2554 ส่งผลให้ประชาชนหลายแสนคนได้รับผลกระทบ จากการมอบที่ดินให้กับธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า การดำเนินการข้างต้น ผลักดันให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า และการปลดสิทธิการถือครองของผู้อื่น

ทั้งนี้ กัมพูชาจัดทำอีแอลซีอย่างเป็นทางการ ในปี 2544 โดยมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้รับที่ดิน สามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางการเกษตรอุตสาหกรรมได้

แต่เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องที่ดินเพิ่มขึ้น และรัฐบาลพนมเปญเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิด “การปฏิวัติของเกษตรกร” สมเด็จฮุน เซน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเวลานั้น จึงประกาศระงับอีแอลซีชั่วคราว เมื่อปี 2555.

เครดิตภาพ : AFP