เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยภาพรวมในประเทศมีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 25 ล้านไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดวิกฤติราคายางพาราตกต่ำเฉลี่ยกิโลกรัมละ 20-30 บาท หรือในยุคที่เรียกว่า 3 โลร้อย แต่เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ามามาบริหารประเทศ และได้ประกาศเอาไว้ว่า จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางพารา ก็เป็นหนึ่งในนั้น ขณะที่สถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันมีทิศทางที่ดีขึ้น และทำสถิติราคาสูงที่สุดในรอบกว่า 40 เดือน ที่ผ่านมา หรือราว 3-4 ปี โดยล่าสุดราคาน้ำยางสดที่หน้าจุดรับซื้อต่างๆ สูงเกือบกิโลกรัมละ 80 บาท ส่งผลให้บรรดาเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศพากันยิ้มได้อีกครั้ง

โดย นายธาดา พรหมมี ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา และว่าที่ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคใต้ตอนกลาง เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคาน้ำยางสด ณ หน้าโรงงาน (DRC ไม่ต่ำกว่า 35%) กิโลกรัมกรัมละ 77.50 บาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 50 สตางค์ ส่วนยางแผ่นดิบคุณภาพดี (ความชื้นไม่เกิน 3%) ราคากลาง 84.82 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 53 สตางค์ ขณะที่ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) ราคากลาง 89.46 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.45 บาท และยางก้อนถ้วย (DRC 100%) ราคากลาง 57.27 บาท เพิ่มขึ้น 1.19 บาท และคาดว่าในวันต่อๆ ไป อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้

นายธาดา กล่าวต่อด้วยว่า ราคายางพาราคาที่สูงขึ้นในขณะนี้ เป็นผลจากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการบริหารจัดการยางพารารอบด้าน รวมทั้งมีการเข้มงวดเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนโดยผิดกฎหมาย การไม่อนุญาตให้นำเข้ายางพาราจากต่างประเทศเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น และความต้องการการใช้ยางในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของโลกที่เพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้ราคายางสูงขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยยางในตลาดที่มีจำนวนน้อยกว่าปกติ เพราะอยู่ในช่วงยางผลัดใบระหว่างกลางเดือน มี.ค.-เม.ย. ของทุกปี โดยหนึ่งในมาตรการภาครัฐที่ทำให้ราคายางพุ่งสูงขึ้นมากคือ นโยบายปราบปรามยางเถื่อน เนื่องจากในประเทศรอบข้างไทย เช่น เมียนมา ราคายางจะถูกกว่ามากราว 20-30 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งแต่ก่อนอาจจะมีบางบริษัทที่สั่งนำเข้ายางเหล่านี้เข้ามา เพื่อใช้หรืออาจซื้อเพื่อส่งออกด้วย แต่ปัจจุบันจะให้ใช้ยางในประเทศ ห้ามนำเข้ายางเถื่อนเหล่านี้

อีกทั้งในส่วนของการขออนุญาตนำผ่านเส้นทาง หรือทรานซิส ยกตัวอย่างเช่น ถ้าประเทศมาเลเซีย ต้องการสั่งซื้อยางพาราจากประเทศเมียนมา โดยเส้นทางผ่านประเทศไทย โดยการขนส่งทางบกด้วยรถบรรทุก ก็จะต้องขอให้เลี่ยงไปใช้การขนส่งอย่างอื่นที่ไม่ต้องผ่านประเทศไทย เช่น การขนส่งทางเรือที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ เนื่องจากอาจจะมีการแอบแฝงยางเถื่อนเข้ามาได้ และเจ้าหน้าที่ก็จะทำงานด้วยความยากลำบาก และยังเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ห้ามนำเข้ายางพาราจากต่างประเทศ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับยางพาราไทย


ทั้งนี้ในส่วนของยางเถื่อนนั้น หากสามารถสกัดกั้นไม่ให้เข้ามาภายในประเทศได้ และขณะเดียวกันความต้องการใช้ในประเทศยังมีอยู่ ก็จะส่งผลให้ราคายางดีดตัวสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องนำเข้ายางจากประเทศรอบข้างเข้ามาในระบบ ซึ่งกระทบกับราคาที่ไม่กระเตื้อง และไม่ส่งผลดีกับเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทย

ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา ทางตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ได้จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ กยท.สาขา, จังหวัด, เขต ดูแลอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา จ.ตรัง จ.พัทลุง และ จ.สตูล รวมจำนวน 185 กลุ่ม สถาบันละ 1-2 คน โดยมี นายพิเชษฐ์ ยอดไชย คณะกรรมการ กยท. บอร์ทการยาง เป็นประธานในการหารือ เพื่อระดมสมองขับเคลื่อนราคายางพาราที่ต้องดูแลร่วมกัน และผลักดันส่งเสริมให้ราคายางมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องด้วย

ขณะที่จากการสอบถามร้านรับซื้อน้ำยางและเกษตรกรชาวสวนยางต่างก็รู้สึกดีใจ และพึงพอใจกับราคายางพาราที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ แม้จะอยู่ในช่วงฤดูกาลยางผลัดใบก็ตาม และคาดหวังว่า หลังจากพ้นช่วงนี้ไป และเริ่มเข้าสู่ช่วงที่สามารถกรีดยางพาราได้ตามปกติในราวเดือน พ.ค. เป็นต้นไปนั้น ราคายางพาราจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงราวๆ นี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้ และบางส่วนก็คาดหวังไปถึงยางพารากิโลละร้อย ที่อาจจะได้เห็นในช่วงรัฐบาลนี้ด้วยเช่นกัน