รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เตรียมจัดตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและเสนอแนะรัฐบาล ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขึ้นมา โดย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ว่าเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง หรือไม่ ซึ่งการใช้จ่ายตามนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว

“สตง. ได้ศึกษาและจัดทำเอกสารในโครงการดังกล่าว และเตรียมที่จะเสนอให้คณะอนุกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นมา เพื่อพิจารณาผลศึกษาดังกล่าว ก่อนเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป”

ทั้งนี้ สตง. มีอำนาจการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลว่า แบ่งเป็นสองกรณี กรณีแรก คือ หากโครงการใช้จ่ายงบประมาณนั้นๆ ได้ดำเนินการไปแล้ว และได้ใช้อำนาจการปกครองของรัฐบาล หมายความว่า รัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายดังกล่าวได้ ว่า เป็นการใช้จ่ายที่ขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือไม่ หากพบว่าขัดต่อกฎหมายดังกล่าว และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ทางสำนักงาน มีอำนาจเสนอเรื่องให้ คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อให้คณะกรรมการ เชิญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาประชุมร่วมกับ สตง. เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ส่วนกรณีที่สอง หากรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการตามนโยบายหรือการใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการดังกล่าว เป็นเพียงนโยบายของรัฐบาล ทางสำนักงานจะยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสภา แต่กฎหมายการตรวจเงินแผ่นดิน ให้อำนาจแก่ คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในการเสนอแนะ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ให้ขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามมาตรา 27 (4) ของกฎหมายการตรวจเงินแผ่นดิน

ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 (4) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ระบุว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจ ให้คําปรึกษา แนะนํา หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คําแนะนําแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไข ข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีผ่านมา สตง. ได้ตรวจพบการทุจริตการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. พิจารณารวม 560 เรื่อง เฉลี่ยปีละร้อยกว่าเรื่อง ซึ่งถือว่าเยอะ นอกจากนี้ สตง. ยังได้ทำการตรวจสอบแบบเสนอแนะ หรือเป็นการป้องปราม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายของการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ซึ่งปรากฏว่าสามารถเสนอแนะให้ส่วนราชการ แก้ไขปรับปรุง ลดความเสียหายได้ปีละประมาณ 4 พันล้านบาท