สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สานพลังกระทรวงสาธาณสุข มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และภาคีเครือข่าย Kick off จ.น่าน “เปิดเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล” เมืองต้นแบบสุขภาพ ที่มีอารยสถาปัตย์ สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ ผู้สูงวัย คนพิการ ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design (UD)

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข กล่าวว่า การพัฒนาอารยสถาปัตย์ของจังหวัดน่าน เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนทุกกลุ่ม ในสถานที่ท่องเที่ยว สถานบริการในภาครัฐ สถานบริการสุขภาพ รวมถึงสนามบิน จะต้องออกแบบเพื่อให้เข้าถึงการใช้บริการ ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้จังหวัดน่านเป็นเมืองท่องเที่ยวสำหรับทุกคน ทุกกลุ่ม

“นักท่องเที่ยวในกลุ่มเป้าหมาย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พักฟื้นสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มคนพิการ และกลุ่มที่ต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กเล็กต้องใช้รถเข็น ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงจำเป็นต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ด้วย แนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ UD จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวก และเพื่อความปลอดภัยของคนกลุ่มนี้”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. จากสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุไทยในปี 2565 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12.69 ล้านคน คิดเป็น 19.21% ถือเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ผู้สูงอายุจำนวนมากมีบ้านที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และไม่ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิต ขณะที่ข้อมูลคนพิการ ปี 2566 มีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั่วประเทศ 2.18 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ ถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางในการดำเนินชีวิต จากความเสื่อมถอยของร่างกาย และข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ และการเข้าถึงสถานที่สาธารณะ

“การพัฒนา Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ได้จับมือกับภาคประชาชน ภาคประสังคม เพื่อหนุนเสริมกับภาครัฐและทำงานร่วมกัน ซึ่งบางพื้นที่ยังมีข้อจำกัด เช่นโบราณสถาน ที่อาจจะมีความลำบากในการทำทางลาดต่างๆ แต่จำเป็นต้องพัฒนาให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ และจะต้องเป็นการออกแบบที่ปลอดภัย สวยงาม ให้ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันอย่างมีความสุข”

ผศ.ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า จ.น่าน เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 32%ของประชากรในพื้นที่ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาศัยอยู่เพียงลำพัง แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต จึงเริ่มต้นลงพื้นที่และได้เห็นศักยภาพของคนในท้องถิ่น ซึ่งยังขาดที่ปรึกษา และช่างชุมชนที่มีความรู้ด้าน Universal จึงริเริ่มดำเนินการพัฒนาให้ จ.น่านเป็นต้นแบบเมืองที่เป็นมิตรของภาคเหนือ โดยความร่วมมือของศูนย์ UDC จากสถาบันการศึกษา 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา โดยร่วมกับโรงพยาบาลน่าน เทศบาลเมืองน่าน ชมรมผู้สูงอายุ ภาคเอกชน รับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่ รวบรวมความเห็นส่งต่อให้กองช่างไปดำเนินงานตลอดการทำงาน 2 ปีจนเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม

“หัวใจหลักของ UDC เราต้องปลูกฝังความรู้หรือแก่นที่เราต้องปรับปรุงให้กับคนในพื้นที่เป็นหลัก ภายใน 2-5 ปี เราต้องปลูกฝังองค์ความรู้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะกองช่าง จึงเกิดกิจกรรมอบรมช่างชุมชน เพื่อให้องค์ความรู้อยู่กับน่านให้ได้มากที่สุด”

โดยศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน(UDC) ได้ปรับภูมิทัศน์ในจังหวัดน่าน ให้เหมาะสมในแนวคิด “การออกแบบเพื่อทุกคน” หรือ Universal Design ได้แก่

  1. พื้นที่ชุมชนบ้านน้ำล้อม ต.ในเวียง อ.เมือง จัดสภาพแวดล้อมบ้านผู้สูงอายุกลุ่มยากไร้และอยู่ลำพัง ปรับปรุงห้องน้ำ บันได พื้นบ้าน จัดระเบียบของใช้ และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก
  2. ศาสนสถาน มีการปรับปรุงพื้นที่ และอาคารสาธารณะ เช่น แก้ไขพื้นผิวทาง เพิ่มราวจับ
  3. ตลาดชุมชนบ้านพระเนตร มีการปรับห้องน้ำสาธารณะและเพิ่มราวจับ
  4. เตรียมสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย แบบไปเช้า-เย็นกลับ (DAYCARE) ที่โรงพยาบาลน่าน มีเนื้อที่ใช้สอย 700 ตารางเมตร เพื่อลดความแออัดในในโรงพยาบาล โดยออกแบบให้เป็นสถานบริบาลให้ผู้สูงอายุมาตรวจเช็คร่างกาย ทำกายภาพบำบัด รับยา รวมถึงจัดร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำนอกบ้าน ไม่ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ช่วยลดความกังวลของบุตรหลาน