“ทีมข่าวชุมชนเมือง” พาย้อนไปในอดีตบริเวณนี้ ผู้คนเรียกย่าน “สะพานเหล็ก” ค้าขายสินค้าประเภทของเล่นและเกมต่างๆ กระทั่งปี 2543 กทม.ดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าสะพานเหล็ก และต่อมาในปี 2558 กทม.เริ่มรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และร้านค้าที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่างทั้งหมด ตามมติคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และย่านเมืองเก่า โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ทั้งนี้ เป้าหมายเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ คืนพื้นที่คลองประวัติศาสตร์และพื้นที่สาธารณะให้ประชาชน รวมไปถึงพัฒนาระบบการระบายน้ำให้ดีขึ้น สำนักการระบายน้ำจึงปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อม บริเวณคลองโอ่งอ่างตั้งแต่สะพานโอสถานนท์ สะพานบพิตรภิมุข สะพานหัน สะพานภาณุพันธ์ุ และสะพานดำรงสถิต รวมความยาว 750 เมตร รวม 2 ฝั่ง ความยาว 1,500 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 เขต คือ เขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์

การปรับปรุงคลองโอ่งอ่าง นอกจากเรื่องระบายน้ำที่ดีขึ้น ยังต้องการปรับปรุงให้คลองมีความสวยงามทางศิลปะ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคล้ายกับ “คลองช็องกเยช็อน” เกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อดำเนินการลอกคลอง ทำกำแพง ปูพื้นทางเดิน ปลูกต้นเสลา ต้นไทร-เกาหลี และงานอื่นๆ ตามสัญญาจ้าง รวมทั้งมีการติดตั้ง “ฝาท่อลายศิลป์” ช่วงสะพานดำรงสถิตถึงสะพานโอสถานนท์ 5 ฝา ที่เป็นลวดลายเอกลักษณ์แสดงถึงความเป็น “คลองโอ่งอ่าง”

ได้ฤกษ์ปลายปี 2562 คลองโอ่งอ่างแล้วเสร็จ สร้างความแปลกตาให้กับผู้ที่พบเห็น เพราะนอกจากน้ำที่เคยมีกลิ่นเหม็นแล้วบริเวณดังกล่าวแลดูสะอาดตา มีความเป็นระเบียบ ต่อมา กทม.จึงเริ่มนำกิจกรรมเข้าไปดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งการจัดถนนคนเดินทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์, วาดภาพสตรีทอาร์ตบริเวณกำแพงทางเดินริมคลอง, การพายเรือคยัค ล่องชมความงดงามของคลอง สร้างความคึกคักให้พื้นที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

จนปี 2564 คลองโอ่งอ่างได้รับรางวัลต้นแบบในการปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตเมืองของเอเชียประจำปี 2020 จากโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-HABITAT) อีกทั้งยังเป็นโลเคชั่นในการถ่ายทำซีรีส์เกาหลีชื่อดังอย่าง “King The Land” ที่เมื่อซีรีส์ชุดนี้ฉายออกไป คลองโอ่งอ่างก็ถูกพูดถึงอีกครั้ง แต่เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงก็ไม่พบเจอร้านค้าหรือถนนคนเดินแบบในซีรีส์

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจของ “ทีมข่าวชุมชนเมือง” ณ ปัจจุบันตั้งแต่สะพานดำรงสถิตจนถึงสะพานหัน พบว่า น้ำในคลองมีสีเข้มขึ้นและมีกลิ่นเหม็น ส่วนพื้นที่ทางเดินไม่เสียหาย แต่อาจดูไม่สะอาดตา

ขณะที่ภาพสตรีทอาร์ต ซึ่งเคยเป็น “แลนด์มาร์ค” ให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพ อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมไร้การดูแล บางภาพแตก ทะลุ เป็นช่องโหว่ เพราะถูกวาดลงบนพื้นไม้อัด

สอบถามประชาชนที่อยู่ละแวกดังกล่าว หลายคนสะท้อนปัญหาออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจุบันคลองโอ่งอ่างไม่เหมือนเดิม ไฟบางจุดดับสนิท มีคนเร่ร่อนและผู้ใช้สารเสพติดเดินผ่านไปมา จนเกิดความหวาดกลัว สิ่งที่เป็นปัญหาหนักคือ เรื่องของรายได้ที่หดหาย สินค้าที่เคยขายได้กลับขายไม่ได้อีกต่อไป บางร้านต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ในอดีตที่เคยมีถนนคนเดินสามารถขายของได้ตลอดทั้งวันจนถึงดึก ปัจจุบันกลับไร้เงาคนเดิน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยฟื้นคืนชีวิตคลองโอ่งอ่าง

ด้านผู้บริหาร กทม. ชี้แจงว่าการกำหนดแผนปรับปรุงฟื้นฟูชุมชนตลอดแนวคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง-คลองบางลำพู) เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้ทำกิจกรรม หรือสัญจรเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาได้สะดวกขึ้น โดยแบ่งโครงการก่อสร้างออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ช่วงด้านเหนือของคลอง คือ ป้อมพระสุเมรุ ถึง ป้อมมหากาฬ (บริเวณท่าเรือผ่านฟ้า) ช่วงป้อมมหากาฬถึงย่านวรจักร (บริเวณสถานีสามยอด) และด้านใต้ของคลองคือ ช่วงสะพานโอสถานนท์ ผ่านไปรสนียาคาร เชื่อมเข้าสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

การปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อพื้นที่ตั้งแต่ใต้สะพานพระปกเกล้าและคลองโอ่งอ่าง ประกอบด้วย การส่งเสริมพืชพรรณสีเขียว-พื้นที่สาธารณะ การออกแบบทางข้ามถนนโดยยกระดับพื้นทางข้ามให้เท่ากับทางเท้า การเชื่อมต่ออาคารไปรสนียาคาร-พื้นที่สาธารณะ และการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชน เช่น ห้องน้ำ จุดบริการจอดรถจักรยาน

ส่วนแนวคิดในการจัดกิจกรรมบริเวณคลองโอ่งอ่าง มีแผนจะจัดทุกสัปดาห์สุดท้ายของเดือนในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 16.00-21.00 น. ยกเว้นฤดูฝนช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย. โดยจัดกิจกรรมและเทศกาลหมุนเวียนที่ดึงอัตลักษณ์ ชูจุดเด่นย่าน รวมถึงเทศกาลพิเศษประจำปี อาทิ ลอยกระทง สงกรานต์ ตรุษจีน ซึ่งมีแผนทดลองจัดกิจกรรมนำร่องถนนคนเดินคลองโอ่งอ่างในช่วงเดือนเม.ย.

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับ กทม.คือจะฟื้นคืนความสว่าง เรียกผู้คนให้กลับมาคึกคักในพื้นที่นี้ในช่วงระยะสั้นได้อย่างไร เพื่อให้สิ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อให้เป็นอีกหนึ่ง “แลนด์มาร์ค” ได้กลับมาทำหน้าที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและกลายเป็นหมุดหมายที่น่าท่องเที่ยวอีกครั้งในอนาคต.

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน